การเมืองที่พลิกผันชุดแรกของดินแดนนี้ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทิวงคต ในวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2428 รัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้ยุบเลิกตำแหน่ง “ วังหน้า ” และสถาปนาตำแหน่ง “ พระบรมโอรสาธิราช ” ขึ้นแทน เปลี่ยนธรรมเนียมการสืบราชสมบัติ “ จากพี่มายังน้อง ” เป็น “ จากพ่อมายังลูก ” เรื่องราวของ “ วังหน้า ” ก็กลายเป็นตำนานที่ไม่ค่อยเปิดเผยตั้งแต่นั้นมา

พื้นที่อาคารส่วนหนึ่งของดินแดนนี้ก็ถูกปรับเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โรงละคอนแห่งชาติ ส่วนตำหนักฝ่ายในเช่น ตำหนักเจ้าฟ้าพิกุลทอง ซึ่งอยู่ด้านท่าพระจันทร์ต่อมาถูกรื้อเป็นที่สมบัติกระทรวงกลาโหม เป็นที่ตั้งทหารกองต่างๆ ตามลำดับคือ เป็นที่ตั้งกองทหารเรือ เป็นที่ตั้งกองทหารรักษาพระองค์ราบที่ 11 เป็นกองพันทหารราบที่ 4 และ 5 (สมโชติ อ๋องสกุล, 2545 : 3-8)

19.10 สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง)

โกษาปาน
(ภาพจากหนังสือประวัติโกษาปาน และบันทึกการเดินทางไปฝรั่งเศส)
ท่านโกษาปาน ผู้ซึ่งเคยเป็นราชทูตไทยไปเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส และท่านโกษาเหล็กทหารเอกของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นบุตรของเจ้าแม่วัดดุสิตซึ่งเป็นพระนมของเจ้าฟ้านารายณ์ราชกุมาร เนื่องจากพระราชมารดาของเจ้าฟ้านารายณ์ราชกุมารสิ้นพระชนม์ ตั้งแต่เมื่อท่านยังทรงพระเยาว์ ท่านโกษาปาน ผู้นี้เป็นต้นกำเนิดของราชวงศ์จักรี (สมชาย พุ่มสะอาด, 2538 : 1-42)

ท่านโกษาปานมีบุตรชายคนโตชื่อ “นายขุนทอง” ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาวรวงศาธิราช มีตำแหน่งเป็นเสนาบดีกรมพระคลัง บุตรคนโตของท่านขุนทองชื่อ “นายทองคำ” ต่อมาได้เป็นพระยาราชนิกูลปลัดทูลฉลองมหาดไทย ท่านมีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ “นายทองด” ซึ่งต่อมาได้เป็นหลวงพินิจอักษร

หลวงพินิจอักษรได้แต่งงานกับดาวเรือง หรือหยก พำนักอยู่ภายในกำแพงพระนครเหนือป้อมเพชร ครอบครัวนี้ได้ให้กำเนิดบุตรธิดารวม 5 คน