 |
และสถาปนาราชวงศ์ใหม่ ซึ่งสองพี่น้องผู้เป็น วังหลวง และ วังหน้า แห่งกรุงรีตนโกสินทร์ ตระหนักและยกย่อง พระนางจึงเป็นพลังสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสัมพันธ์อันดีระหว่าง ราชวงศ์จักรีกับตระกูลเจ้าเจ็ดตนแห่งล้านนา
บริเวณที่ตั้งพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า ซึ่งเป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทและพระอัครชายาเจ้าศรีอโนชาเป็น แผ่นดินทางการเมือง ที่มีประวัติศาสตร์ระทึกใจตลอด 2 ศตวรรษนับแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ใน พ.ศ.2325 เป็นต้นมา เพราะราชธรรมเนียมที่กำหนดไว้คือ เมื่อสิ้นพี่ก็ต้องเป็นของน้อง
ดังนั้นทั้งวังหลวงและวังหน้าจึงมีทุกอย่างเสมอเหมือนกัน การถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองก็ต้องมี 2 ชุด ทั้งวังหลวงและวังหน้า แต่น้องผู้เป็น วังหน้า ต้องสิ้นพระชนม์ก่อนพี่ผู้เป็น วังหลวง ดังนั้นจึงมีเรื่องเล่าว่า ระหว่างทรงพระประชวร กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท โปรดฯ ให้เชิญพระองค์ขึ้นเสลี่ยงเสด็จออกไปวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ (ต่อมาเรียกวัดมหาธาตุ) เพื่อนมัสการพระประธานในพระอุโบสถ ทรงจับพระหัตถ์อุทิศถวายพระแสงเพื่อเป็นพุทธบูชาเพื่อให้ทำราวเทียน จึงเป็นที่มาของรูปแบบพระบวรอนุสาวรีย์หน้าวัดมหาธาตุในปัจจุบัน
ครั้งนั้นเล่ากันว่าทรงบ่นว่า ของนี้กูอุตส่าห์ทำด้วยความคิดและเรี่ยวแรงป็นหนักหนา ...ต่อไปก็จะเป็นของท่านผู้อื่น... และทรงแช่งตอนหนึ่งว่า
นานไปใครที่มิใช่ลูกกู ถ้ามาเป็นเจ้าของเข้าครอบครอง ขอผีสางเทวดาจงบันดาลอย่ามีความสุข... (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตำนานวังหน้า ประชุมพงศาวดารภาค 13 อ้างในสมโชติ อ๋องสกุล วังหน้า : ประวัติศาสตร์เมื่อ 200 ปี บนดินแดนธรรมศาสตร์ 2525 : 4-5 )
หมายเหตุ
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทประชวรพระโรคนิ่ว เมื่อครั้งเสด็จยกทัพขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่ในปีจอ จัตวาศก พ.ศ.2345 พระอาการมาก เวลามีพิษร้อนถึงต้องเสด็จลงแช่อยู่ในน้ำ ต้องเสด็จรักษาพระองค์อยู่ที่เมืองเถิน โปรดฯ ให้นายทัพนายกองอันมีกรมพระราชวังหลัง ซึ่งเสด็จตามขึ้นไปภายหลังเป็นประธานยกทัพไปตีพม่าซึ่งล้อมเมืองเชียงใหม่อยู่แตกฉาน เมื่อสำเร็จราชการศึกแล้ว กรมพระราชวังบวรฯ ค่อยคลายพระโรคขึ้น จึงเสด็จยกทัพกลับลงมาถึงกรุงเทพฯ ในปีกุน พ.ศ.2346 ต่อมาพระโรคกำเริบขึ้น สวรรคต ณ พระที่นั่งบูรพาภิมุขภายในพระราชวังบวรสถานมงคล ในเดือน 12 แรม 4 ค่ำ ปีกุน พ.ศ.2346 พระชนมายุ 60 พรรษา (พระบวรราชประวัติและพระบวรราชนิพนธ์, 2515 : 5)
กรมพระราชวังบวรฯ ทรงมีพระราชโอรส 18 พระองค์ พระราชธิดา 25 พระองค์ รวมทั้งสิ้น 43 พระองค์ ทรงมีพระราชทายาทสืบสายสกุลรวม 4 สกุล โดยเรียงตามลำดับพระชันษาดังนี้ อสุนี ณ อยุธยา สังขฑัต ณ อยุธยา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา และนีรสิงห์ ณ อยุธยา |
|
|