การศึกครั้งที่ 14 ตีนครจำปาศักดิ์ พ.ศ. 2320 เจ้าโอกับเจ้าอินแห่งนครจำปาศักดิ์เตรียมพล 10,000 จะมาตีเมืองทางภาคอิสานของไทย สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรสีห์ยกกำลังจากกรุงธนบุรี ไปสมทบกับทัพเจ้าพระยาจักรีที่เมืองนครราชสีมา แล้วยกไปตีนครจำปาศักดิ์ได้ในต้นปี พ.ศ.2320 และยังได้เมืองอัตปือ, เมืองสุรินทร์, เมืองสังขละและเมืองขุขันธ์มาขึ้นต่อกรุงธนบุรีด้วย

หลังจากเสร็จศึกครั้งนี้แล้ว โปรดเกล้าฯ เลื่อนเจ้าพระยาจักรี เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เทียบเท่าเจ้ากรม ดำรงตำแหน่งสมุหนายก

การศึกครั้งที่ 15 ตีกรุงศรีสัตนาคนหตุ พ.ศ. 2321 เนื่องด้วยพระวอ (ซึ่งเป็นขุนนางเก่าของเจ้านครเวียงจันทน์ ซึ่งยอมสวามิภักดิ์ต่อกรุงธนบุรี ได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านดอนมดแดง ริมฝั่งแม่น้ำมูล ตั้งแต่ครั้งไทยไปตีได้นครจำปาศักดิ์) ถูกเจ้านครเวียงจันทน์ ส่งกองทัพมาจับฆ่าเสีย สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับเจ้าพระยาสุรสีห์ ยกทัพไปตีเวียงจันทน์ในเดือนอ้าย พ.ศ.2321 สมเด็จเจ้าพระยาฯ ยกกองทัพ 20,000 ไปทางบก ส่วนเจ้าพระยาสุรสีห์ เกณฑ์ทัพเรือจากกัมพูชา 10,000 ยกขึ้นไปตามลำแม่น้ำโขง เจ้าหลวงพระบางมาขอขึ้นด้วยและอาสาช่วยตีเวียงจันทน์ กองทัพกรุงธนบุรีได้ล้อมอยู่ 4 เดือน ก็ตีเวียงจันทน์ได้ และได้หัวเมืองต่างๆ ในแคว้นลาว จนจดแคว้นตั๋งเกี๋ยของญวนมาขึ้นกับกรุงธนบุรีด้วย

การศึกครั้งนี้ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (แก้วมรกต) และพระบาง จากเวียงจันทน์ลงมาประดิษฐานในกรุงธนบุรีด้วย

การศึกครั้งที่ 16 การปราบจลาจลในกรุงกัมพูชา พ.ศ.2323 ได้เกิดจลาจลประหัตประหารกันเองในกัมพูชา จนเหลือเพียงนักองค์เอง ตำแหน่งมหาอุปราช มีพระชนม์เพียง 4 ขวบ เจ้าฟ้าทะละหะ (มู) จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทน แต่กลับไปเอาใจฝักใฝ่กับญวนเพื่อจะตั้งตัวเป็นกษัตริย์เสียเอง

สมเด็จพระเจ้าตากสิน จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพใหญ่ เจ้าพระ ยาสุรสีห์เป็นแม่ทัพหน้า และเจ้าฟ้ากรมขุนอินทร์พิทักษ์ ลูกยาเธอองค์ใหญ่เป็นแม่ทัพหนุน รวมกำลัง 20,000 ยกไปตีกรุงกัมพูชา และมีรับสั่งว่า เมื่อตีได้แล้วให้อภิเษกเจ้าฟ้ากรมขุนอินทร์พิทักษ์ ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกัมพูชา แต่ยังไม่ทันจะรบกัน เกิดการจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กับเจ้าพระยาสุรสีห์จึงยกกองทัพกลับมาปราบปรามการจลาจล เมื่อสิ้นบารมีสมเด็จพระเจ้าตากสินแล้ว สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก จึงได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ตามความเห็นของขุนนาง และอาณาประชาราษฎร และได้ย้ายนครหลวงมาตั้งที่กรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ.2325 (กองพลทหารราบที่ 9 อนุสรณ์งานฉลองวันชนะศึกทุ่งลาดหญ้า ประจำปี 2527 : 15-22)