 |
การศึกครั้งที่ 4 ปราบเจ้าพิมาย (กรมหมื่นเทพพิพิธ ในรัชกาลพระเจ้าเอกทัศน์) เมื่อสิ้นฤดูฝนแล้ว ในพ.ศ.2311 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงยกกองทัพไปปราบเจ้าพิมายที่เมืองนครราชสีมา ได้โปรดให้พระราชวรินทร์กับพระมหามนตรี นำกองทัพแยกไปตีค่ายส่วนหนึ่งของเจ้าพิมายที่ด่านขุนทด ได้ใช้เวลาถึง 3 วันจึงได้ชัยชนะ เพราะฝ่ายตรงข้ามตั้งรับแข็งแรงมาก
เมื่อเสร็จการศึกครั้งนี้ พระราชวรินทร์ ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ พระมหามนตรีได้เลื่อนขึ้นเป็น พระยาอนุชิตราชา ตำแหน่งจางวางตำรวจทั้งสองคน ในขณะนั้น ทั้งสองพี่น้องยังอยู่ที่นครราชสีมา ทรงโปรดเกล้าฯ ให้อยู่จัดการปกครองเมืองนั้นให้เรียบร้อยก่อน ส่วนพระองค์ทรงถอนทัพกลับกรุงธนบุรี
การศึกครั้งที่ 5 ตีเมืองเขมร พ.ศ.2312 เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทราบว่ากรุงกัมพูชาไม่ยอมอ่อนน้อมต่อกรุงธนบุรีเหมือนครั้งกรุงศรีอยุธยา จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอภัยรณฤทธิ์กับพระยาอนุชิตราชายกกำลัง 2,000 จากเมืองนครราชสีมา และพระยาโกษาธิบดีคุมกำลังอีก 2,000 จากเมืองปราจีนบุรีเพื่อไปปราบเขมรในฤดูแล้ง พ.ศ.2312
พระยาอภัยรณฤทธิ์และพระยาอนุชิตราชา ตีได้เมืองเสียมราฐ พระยาโกษาธิบดี ตีได้เมืองพระตะบองในต้นฤดูฝน แล้วหยุดพักในเมืองนั้นรอทัพหลวงที่สมเด็จพระเจ้าตากสินจะทรงยกไปสมทบ เพื่อตีกรุงกัมพูชาในฤดูแล้งตามแผนการที่วางไว้ แต่เมื่อถึงฤดูแล้งสมเด็จพระเจ้าตากสินก็ยังไม่ยกทัพมา กลับได้ข่าวลือว่าได้เสด็จสรรคตไปเสียแล้วที่เมืองนครศรีธรรมราช พระยาอภัยรณฤทธิ์และพระยาอนุชิตราชาทราบเรื่องเข้าก็ตกใจ เกรงจะเกิดจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี จึงถอยกองทัพกลับมาเมืองนครราชสีมา ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินเพิ่งเสด็จกลับจากการไปตีเมืองนครศรี ธรรมราชพอดี เมื่อทราบเรื่องก็ทรงพิโรธ ให้เรียกตัวพระยาทั้งสองเข้ามาซักถาม เมื่อทรงทราบรายละเอียดแล้ว ทรงพระราชทานอภัยโทษให้
การศึกครั้งที่ 6 ตีทัพเจ้าพระฝาง พ.ศ.2313 การสงครามครั้งนี้ พระยาอนุชิตราชา (บุญมา) ได้เลื่อนขึ้นเป็น พระยายมราช แล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ยกกำลัง 5,000 ไปตีหัวเมืองเหนือ ร่วมกับกองทัพหลวงของสมเด็จพระเจ้าตากสินและกองทัพพระยาพิชัยราชา ตีได้เมืองสวางคบุรีที่เจ้าพระฝางยึดอยู่ ส่วนทัพหลวงเข้ายึดเมืองพิษณุโลก เป็นอันว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงได้หัวเมืองภาคเหนือและกลางไว้ในพระราชอำนาจทั้งหมดแล้ว
เสร็จการทัพครั้งนี้ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยายมราช (บุญมา) ขึ้นเป็น เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช ผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก (ยศสูงกว่าขุนนางชั้นจตุสดมภ์) เมื่ออายุได้ 28 ปี (พิศาล เสนะเวส, 2515 : 321) ส่วนตำแหน่งพระยายมราชที่ว่างลง โปรดเกล้าให้เลื่อนพระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง) ขึ้นเป็นแทน |
|
|