ก. ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พ.ศ. 2310-2325)

เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ได้ปฏิบัติราชการสงคราม 16 ครั้ง คือ
การศึกครั้งที่ 1 คราวตีค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้น พ.ศ.2310 หลังจากพระยาตาก (สิน) ตีฝ่าพม่าออกมาทางทิศตะวันออก ได้ตั้งตัวที่เมืองจันทบุรีและในเดือน 11 พ.ศ. 2310 เจ้าตาก (สิน) ยกทัพเรือจำนวนเรือรบประมาณ 100 ลำ มีทหารไทยจีนราว 5,000 คน เคลื่อนทัพขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยา เข้าตีทำลายกองกำลังพม่าที่ยึดเมืองธนบุรี มีนายทองอิน (ซึ่งเข้ากับฝ่ายพม่า) เป็นผู้สำเร็จราชการแล้วจึงยกพลขึ้นไปตีค่ายของสุกี้แม่ทัพพม่าที่โพธิ์สามต้นทางทิศเหนือพระนครศรีอยุธยา เวลานั้น ตัวเกาะและรอบๆ พระนครศรีอยุธยาว่างเปล่าไม่มีผู้คน บ้านเรือนวัดวาอารามถูกเผาสิ้น เป็นอันว่าได้ขับไล่ทหารพม่าออกไปพ้นกรุงศรีอยุธยาเดิมได้

พระมหามนตรี (บุญมา) ได้รวมอยู่ในการเข้าตีครั้งนั้นด้วย แต่ในครั้งนั้นยังไม่ได้รับหน้าที่สำคัญประการใด ถึงกระนั้นก็ได้แสดงฝีมือยอดเยี่ยมในการรบให้เป็นที่ประจักษ์แก่ทหารในกองทัพของเจ้าตากไว้แล้ว จึงได้รับหน้าที่สำคัญในการทัพครั้งต่อๆ มามิได้ขาด

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินได้สถาปนาตั้งกรุงธนบุรีเป็นนครหลวง และได้ทรงประกอบพิธีปราบดาภิเษกเรียบร้อยแล้ว พระมหามนตรี (บุญมา) ก็ได้ออกไปรับหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี (ชื่อเดิมทองด้วง) ซึ่งเป็นพี่ชาย เข้ามารับราชการอยู่ในกรุงธนบุรีด้วย สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดเกล้าฯ เลื่อนหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรีขึ้นเป็นพระราชวรินทร์

การศึกครั้งที่ 2 ตีค่ายพม่าที่บางกุ้ง พ.ศ. 2310 ในฤดูแล้งปลาย พ.ศ.2310 ปีเดียวกันนั้น แมงกี้มานอย่า เจ้าเมืองทะวาย ได้ยกทหาร 3,000 เข้ามาลาดตะเวนสถานการณ์ในเมืองไทยตามที่พระเจ้าอังวะทรงรับสั่ง ได้พบกองทัพทหารจีน ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดให้ไปตั้งรักษาความเรียบร้อยอยู่ที่ตำบลบางกุ้ง เมืองสมุทรสงคราม จึงได้เข้าล้อมไว้ สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดเกล้าฯ ให้พระมหามนตรี (บุญมา) เป็นแม่ทัพหน้า ส่วนทัพหลวงพระองค์ทรงเป็นแม่ทัพ ยกไปตีข้าศึกดังกล่าวนั้นแตกพ่ายไป

การศึกครั้งที่ 3 ทำลายกำลังเจ้าเมืองพิษณุโลกผู้ตั้งตัวเป็นใหญ่ ในปี พ.ศ.2311 เดือน 11 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงยกกองทัพเรือขึ้นไปทางทิศเหนือใกล้เมืองพิษณุโลก แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงได้รับบาดเจ็บกระสุนถูกพระชงฆ์ จากหน่วยซุ่มโจมตีของเจ้าเมืองพิษณุโลก ที่ตำบลเกยไชยใต้เมืองพิษณุโลก กองทัพจึงต้องถอยกลับ

การศึกครั้งนี้ แม้ไม่ปรากฏชื่อพระราชวรินทร์และพระมหามนตรี แต่ก็เชื่อได้ว่าต้องไปราชการทัพด้วย เพราะขณะนั้นทั้งสองพี่น้อง เป็นนายทหารเอกคู่พระทัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินอยู่แล้ว