หมายเหตุ :
. เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ (จุ้ย)
เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ พระนามเดิมว่า จุ้ย เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และสมเด็จพระอัครมเหสีกรมหลวงบาทบริจา (สอน) มีบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จพระมหาอุปราช ดำรงตำแหน่งรัชทายาท ทรงช่วยราชการทำศึกสงครามอย่างหนักตลอดพระชนม์ชีพ ในคราวที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงให้แต่งทัพขึ้นไปตีเขมรในกลางปี พ . ศ . 2324 เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ทรงผนวชอยู่ ก็ได้ทรงลาผนวชและเสด็จเป็นทัพหนุนในศึกครั้งนี้ด้วย เนื่องจากสมเด็จพระบรมชนกได้มีพระราชดำริจะทรงสถาปนาให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมร กล่าวกันโดยสันนิษฐานว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ อาจทรงมีพระราชดำริจะขยายพระราชอาณาเขต และอำนาจให้กว้างออกไป จึงทรงส่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ พระราชโอรสในพระมเหสีใหญ่ ไปปกครองกัมพูชา โดยมีพระราชดำรัสสั่งสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ว่า เมื่อเหตุการณ์ในเขมรสงบราบคาบแล้ว (ขณะนั้นเขมรเกิดศึกแย่งชิงราชสมบัติกัน) ก็ให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ ทำพิธีสถาปนา กรมขุนอินทรพิทักษ์ ขึ้นเป็นเจ้าครองนครกัมพูชา (จุลลดา ภักดีภูมินทร์, “ พระองค์เสือ และพระองค์ช้าง,” สกุลไทย 48(2488) : 25 มิถุนายน 2545 : 27, 119)

แต่เกิดเหตุการณ์จลาจลในกรุงธนบุรี ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแผ่นดินเสียก่อน ช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชบ้านเมืองเป็นจลาจล สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้เข้าทำการสงบระงับเหตุจลาจล และเหล่าข้าราชการลงความเห็นให้สำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ยังคงประทับที่เขมร เมื่อผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน ภายหลังได้หนีไปยังเขาน้อย แต่ก็ถูกจับได้ และทรงถูกสำเร็จโทษตามพระราชบิดาพร้อมกับพระยากำแหงสงคราม (คือพระยานครราชสีมา (ปิ่น) นายทหารผู้ร่วมกรำศึกมาทุกสมรภูมิกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหา ราช) สมเด็จพระอัครมเหสี กรมหลวงบาทบริจา (สอน) ถูกลดพระยศเป็น “หม่อมสอน” รวมทั้งพระโอรส และพระธิดา ชั้นพระองค์เจ้า ถูกลดพระยศ แต่ก็ยังเป็นที่เคารพรักของราษฎร และผูกพันกับเจ้านายในพระราชวงศ์จักรี และผูกสายสัมพันธ์ทางการสมรสกับเจ้านายผู้ทรงเป็นต้นราชสกุลหลายพระองค์ และมีสายสืบราชสกุลมาจนทุกวันนี้ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ทรงเป็นต้นราชสกุล สินสุข และ อินทรโยธิน (เล็ก พงษ์สมัครไทย, สายสัมพันธ์ราชสกุลพระเจ้าตากกับราชวงศ์จักรี, ศิลปวัฒนธรรม 23(6) : เมษายน 2545 : 63)