พระเจ้าตากโปรดให้นำนัดดานารีคืนพระยากาวิละ และพระราชทานเงิน 1 ชั่ง พร้อมผ้าสำรับหนึ่งเพราะไม่ประสงค์ “ พรากลูกเขา ” เหมือนดังได้พระราชทานให้พระยาวิเชียรปราการที่เชียงใหม่ แต่พระยากาวิละ และพระยาอุปราชาแห่งลำปางกราบทูลดังบันทึกว่า “... บัดนี้เจ้าตัวก็สมัคร บิดามารดาญาติพี่น้องทั้งปวงก็ยอมพร้อมกันอันจะเป็นโทษด้วยพลัดพรากจากบิดามารดา ...” พระเจ้าตากทรงรับไว้ ดังพระราชพงศาวดารบันทึกว่า “... ทรงพระดำริเห็นว่าตั้งใจสวามิภักดิ์เป็นแท้แล้ว จึ่งพาตามเสด็จฯ มาด้วย ...” (เรื่องเดียวกัน หน้า 69-70) นัดดานารีจากนครลำปางก็เข้าสู่ราชสำนักกรุงธนบุรี ตามความประสงค์ของเจ้ากาวิละแห่งนครลำปาง (ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้แต่งตั้งเป็นพระยามังราวชิรปราการกำแพงแก้ว ครองเมืองเชียงใหม่, http://www.lannaworld.com/person/kingcm1.htm , 16/9/2547)

18.1.2 สกุลวงศ์ชั้นพระราชโอรสและพระราชธิดา มีทั้งหมด 30 พระองค์ เป็นชั้นเจ้าฟ้า 12 พระองค์ ชั้นพระองค์เจ้า 16 พระองค์ บุคคลธรรมดา 2 คน หลายพระองค์ไม่ปรากฏพระนามพระราชมารดา

1. ชั้นเจ้าฟ้า มีทั้งหมด 12 พระองค์ มีพระนามตามลำดับพระชันษาดังนี้

1. สมเด็จพระมหาอุปราช เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ (จุ้ย) โอรสในสมเด็จพระอัครมเหสีกรมหลวงบาทบริจา ถูกสำเร็จโทษตามพระราชบิดา เมื่อ พ.ศ.2325

1.1 พระโอรสและพระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ (จุ้ย) มี 4 พระองค์ ได้แก่ เจ้าหญิงมะเดื่อ เจ้าหญิงสาลี่ เจ้าชายไม่ปรากฏพระนาม และเจ้าชายทองอิน (หรือทองอินทร์)

หมายเหตุ เจ้าหญิงมะเดื่อ เป็นหม่อมห้ามในกรมหมื่นนราเทเวศร์ พระโอรสองค์ใหญ่ในกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง)

เจ้าหญิงสาลี่ เป็นหม่อมห้ามในกรมหลวงเสนีบริรักษ์ พระโอรสองค์เล็กในกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข เช่นกัน ส่วนเจ้าทองอิน รับราชการในรัชกาลที่ 1 ได้เป็นพระยากลาโหมราชเสนา (จุลลดา ภักดีภูมินทร์, “ พระราชวงศ์กรุงธนบุรีกับพระราชจักรีวงศ์,” สกุลไทย 48(2483) : 21 พฤษภาคม 2545 : 78)

1.2 วงศ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ (จุ้ย) พระมหาอุปราชกรุงธนบุรี มีแยกเป็น 2 สาย คือ
ก . สาย “ สินสุข” ซึ่งเจ้าพระยายมราช (สุข) บุตรเจ้าชายทองอินทร์ พระราชโอรสของสมเด็จพระมหาอุปราชเป็นต้นสาย
ข . สาย “ อินทรโยธิน” คุณชายนุด น้องเจ้าพระยายมราช (สุข) บุตรเจ้าชายทองอินทร์ เป็นต้นสาย