เจ้าพระยานครน้อยเกิดเมื่อวันจันทร์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 10 ปีจอ อัฐศก จ.ศ.1138 ตรงกับวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2319 ณ เมืองนครศรีธรรมราช และท่านได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคลมปัจจุบันทันด่วน ภายหลังที่ได้เข้าโจมตีไทรบุรีได้รับชัยชนะและยังมิทันจะยกทัพกลับนครศรีธรรมราช โดยท่านมีอาการวิงเวียนอาเจียรเป็นน้ำลายเหนียวมีเสมหะปะทะหน้าอก โดยมีอาการตั้งแต่วัน แรม 8 ค่ำเดือน 6 ครั้นถึงวันแรม 14 ค่ำเดือน 6 จ.ศ.1210 ปีเดียวกันเวลา 5 ทุ่มเศษ ตรงกับวันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2382 ก็ถึงแก่อสัญกรรม รวมอายุได้ 64 ปี

1.1 ส่วนผู้ที่สืบเชื้อสายจากเจ้าพระยานคร (น้อย) ต้นสกุล ณ นคร , โกมารกุล ณ นคร และจาตุรงคกุล นั้น เป็นบุตรชายหญิงรวม 34 ท่าน ฝ่ายชายรับราชการในราชสำนักพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี 3 ท่าน เป็นเจ้าเมือง 3 ท่าน เป็นผู้รักษาเมือง 5 ท่าน เป็นปลัดเมือง 3 ท่าน เป็นผู้ช่วยราชการเมือง 1 ท่าน ฝ่ายหญิงเป็นเจ้าจอมมารดาและเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 10 ท่าน เป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2 ท่าน เป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว 1 ท่าน เป็นข้าราชสำนักฝ่ายใน 1 ท่าน และมีหญิงที่มิได้รับราชการ 5 ท่าน

1.2 วงศ์เจ้าพระยานคร (น้อย) มีสกุลสายตรงซึ่งแยกออกเป็น 3 สาย คือ
สาย “ณ นคร” เจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นต้นสายตรง
สาย “โกมารกุล ณ นคร” สืบตรงจากเจ้าพระยามหาศิริธรรม (เมือง หรือ น้อยใหญ่) บุตรเจ้าพระยานคร (น้อย) กับท่านผู้หญิงอิน (ราชนิกุล บางช้าง)
สาย “ จาตุรงคกุล ” สืบตรงจากคุณชาย “ น้อยเอียด ” บุตรเจ้าพระยานคร ( น้อย ) กับท่านผู้หญิงอิน

2. วงศ์เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ หรือทองอิน) ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม (2509) ได้ค้นคว้าเรียบเรียงไว้ในหนังสือ “โอรสลับพระเจ้าตากสิน” ว่า ในการที่เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) ได้เป็นกองหน้าคราวสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพไปปราบเมืองเวียงจันทน์ และท่านผู้หญิงเผอิญถึงแก่อนิจกรรมลง จึงพระราชทานเจ้าหญิง ยวน หรือ จวน ซึ่งก็เป็นเจ้าจอมผู้เป็นน้องสาวกรมหลวงบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ (ธิดา เจ้าพระยานคร (หนู) เจ้าหญิงก็ทรงครรภ์อยู่ด้วย เมื่อไปอยู่เมืองนครราชสีมาก็คลอดบุตรชาย ซึ่งเจ้าพระยานครราชสีมาบิดาบุญธรรมให้ชื่อว่า “ทองอินทร์” ผู้ที่ต่อมาก็ได้เป็น เจ้าพระยานครราชสีมา (หรือเจ้าพระยากำแหงสงคราม) ถึงไม่มีหลักฐานในจดหมายเหตุหรือพงศาวดาร ท่านทั้งสองคือ เจ้าพระยานคร (น้อย) และ เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) ก็เป็นที่รับรองกันทั่วไปว่า เป็นโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

2.1 ผู้ที่สืบเชื้อสายจากเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) นั้นยังหารายละเอียดไม่ได้ครบทุกท่าน ทราบแต่ชื่อและจำนวน คือ มีชาย 28 ท่าน หญิง 22 ท่าน ฝ่ายชายที่รับราชการและมีบรรดาศักดิ์ 20 ท่าน ฝ่ายหญิงเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 3 ท่าน เป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว 1 ท่าน