 |
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ทรงอยู่ในฐานะพระราชนัดดา ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ พวกข้าราชการเรียกพระนามโดยย่อว่าเจ้าฟ้าอภัย รัชกาลที่ 1 ทรงเห็นว่าไปพ้องกับพระนามเจ้าฟ้า 2 พระองค์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงโปรดฯ พระราชทานนามใหม่เป็น เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานพระยศเป็น เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต ทรงมีวังที่ประทับอยู่ที่ถนนหน้าพระลานด้านตะวันตกที่เรียกว่า วังท่าพระ
สันนิษฐานว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงมีพระราชดำริจะให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ พระโอรสในเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ ขึ้นครองราชย์ พระอัยกา (ตา) ต่อมาคือรัชกาลที่ 1 จะได้เป็นกำลังสำคัญ เพราะเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่เป็นพระธิดาองค์ใหญ่ของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ซึ่งต่อมาคือ รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงค์จักรี) (จุลลดา ภักดีภูมินทร์ พระองค์เสือและพระองค์ช้าง,' สกุลไทย 48(2488) : 25 มิถุนายน 2545 : 119)
วันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน พ.ศ.2352 เวลาดึก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าเสด็จสวรรคต เช้าวันศุกร์สรงน้ำพระบรมศพ แล้วเชิญไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
เช้าวันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน พ.ศ.2352 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จออกทรงบาตรที่ชลาหน้าพระมหาปราสาท กาคาบไข่มากินที่บนต้นแจงแล้วทิ้งเปลือกไข่ลงมายังพื้นดิน พระยาอภัยภูธร (น้อย) สมุหนายก ขณะเป็นที่พระยาอนุชิตราชา จางวางพระตำรวจ เก็บเอาเปลือกไข่มาดู เห็นมีหนังสืออยู่ข้างในเป็นบัตรสนเท่ห์ความว่า พระโอรสและพระธิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช คือ เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต พระองค์เจ้าชายอรนิภา (หนูดำ) และ เจ้าจอมมารดาสำลีวรรณ
คบคิดกับข้าราชการหลายคนจะก่อการกบฏแย่งชิงเอาราชสมบัติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ คือ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงสอบสวนได้ความเป็นสัตย์ รวมทั้งมีการพาดพิงซัดทอดข้าราชการหลายคน เช่น เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาค บ้านแม่ลา) พระยาเพ็ชรปาณี (กล่อม) พระยาราม (ทอง) พระอินทเดช (กระต่าย) จมื่นสท้านมณเฑียร (อ่อน) นายขุนเนน หลานเจ้าพระยาพลเทพ สมิงรอดสองราม สมิงศิริขุนโดด บุตรเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) สมิงพัตเบิด (ม่วง) สมิงปินทะละ ข้าในเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต 10 คน รวม 40 คน กับพระราชวงศ์อีก 3 พระองค์ (สุจิตต์ วงษ์เทศ คัดลอกมาจากบทนิพนธ์บางเรื่องของหลวงพานิชยลักษณ์ (เพิ่มยศ อิศรเสนา, ม,ล,, 2528 : 62) |
|
|