เจ้าจอมมารดาน้อยจึงมีพฤติกรรมการแสดงออกแปลกๆ ซึ่งอาจจะเป็นการเรียกร้องความสนใจก็เป็นได้

ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จด้วยกระบวนเรือจากตำหนักน้ำถึงวัดเขมาตลาดแก้ว มีเรือเก๋งลำหนึ่งพายตามขึ้นมาแข่งกับเรือพระที่นั่ง เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี (เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง) ร้องถามก็ไม่บอก บ่าวผู้หญิงในเรือเก๋งนั้นพากันหัวเราะเยาะ เมื่อสอบปรากฏว่าเรือเก๋งลำนั้นเป็นของเจ้าจอมมารดาน้อย การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ขัดเคืองพระราชหฤทัย ทำให้ความสัมพันธ์ที่ห่างเหินอยู่แล้วยิ่งไม่มีหนทางจะมาบรรจบกันได้อีกเลย ดังปรากฏหลักฐานที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าเรื่องนี้ให้เจ้าจอมมารดาผึ้ง ในลายพระราชหัตถเลขาลงวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 พ.ศ.2398 ความว่า

“ ข้าออกเรือกระบวรมาจากตำหนักน้ำ วัน ๑ ๖ ๙ ๑๒ ค่ำ จวนรุ่งเวลาตี ๑๑ กับ ๖ บาท ขึ้นมาถึงวัดเขมาตลาดแก้วเวลาเช้าโมงครึ่งกับ 4 บาท มีเรือเก๋งลำหนึ่งพายตามขึ้นมาแข่งเรือที่นั่งของข้า เกินหน้าเรือตำรวจ เรือที่นั่งรองทุกลำ แข่งจนเก๋งเคียงกันยาเรือที่นั่ง แต่แรกข้าสำคัญว่านางหนูลูกรำเพย (ทรงหมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าหญิงจันทรมณฑล) จะร้องไห้ มารดาจะให้เอาใส่เรือเก๋งขึ้นมาส่งให้ข้ากระมัง ข้าจึงร้องถามไปว่าเรือใครเรือนั้น มีม่านบังมิดมีผู้หญิงนั่งท้ายหลาย (คน) เรือตำรวจตามไปก็สำคัญว่าเรือข้างใน ในกระบวร จึงไม่มีใครห้ามปล่อยให้พายขึ้น สรรเพธภักดีร้องถามหลายคำก็ไม่บอก ข้าถามหลายคำว่าอะไรๆ เรือใครก็ไม่บอก บ่าวผู้หญิงข้างท้ายก็หัวร่อเยาะด้วยบานเต็มที จนคนในเรือที่นั่งโกรธว่าหัวร่อเยาะ

ข้าคิดจะให้เอาปืนยิงตามกฎหมาย ก็กลัวจะถูกคนตายเขาจะลือไปว่าดุร้ายใจเบาทำคนตายง่ายๆ พายแข่งไล่เรือที่นั่งอยู่นาน เห็นผิดทีแล้วจึงได้ร้องให้ตำรวจไล่จับ ครั้นเรือไปจับจะฉุดเรือมาจึงพายห่างออกไป ไล่ไปไกลจึงได้ตัวเรือมา ได้ความว่าเป็นเรือมารดากรมหมื่นมเหศวรศิววิลาสมาทำหน้าเป็นเล่นตัว ล้อข้าต่อหน้าทารกำนัลน่าชังนักหนา ข้าสั่งให้พระอินทรเทพจับกุมเรือลงมาส่งตัวนายเข้ามาให้จำไว้ บ่าวให้จำไว้ข้างหน้า

ข้าได้เขียนหนังสือมาให้กรมหมื่นมเหศวรทราบ แล้วได้มีใบสั่งถึงท้าวศรีสัจจา ท้าวโสภานิเวศน์ ให้จำตัวไว้ให้มั่นคงกว่าข้าจะกลับลงไป อยากจะใคร่ให้เอาไปตัดหัวเสียตามสกุลพ่อมัน แซ่นี้มักเป็นเช่นนั้นเหมือนคุณสำลี มารดาพระองค์เจ้านัดดา ถึงลูกท่านรัก ท่านเลี้ยงเป็นหนักหนา มารดาท่านเอาไว้ไม่ได้เอาไปตัดหัวเสียเป็นอย่างนี้มาแล้ว ”

ในพระราชหัตถเลขาฉบับนี้แสดงให้เห็นความขัดเคืองพระทัย... ส่วนชาตากรรมของเจ้าจอมมารดาน้อยต่อจากนั้นจะเป็นอย่างไรไม่มีหลักฐานแน่ชัด คงทราบแต่ว่า ถูกกักตัวไว้ในพระราชวังชั้นใน พร้อมๆ กับแม่ตลับ และแม่ย้อย ซึ่งร่วมนั่งอยู่ในเรือลำเดียวกัน (ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, 2539 : 80-82)