แล้วก็มีพระราชดำรัสให้ท้าวนางส่งตัวเจ้าจอมปราง (หรือ “ หนูเล็ก ” ) ไปพระราชทานแก่เจ้าพัฒน์ แต่ท้าวนางได้กราบทูลกระซิบให้ทรงทราบความสำคัญว่า ขณะนั้นเจ้าจอมปรางขาดระดูมา 2 เดือนแล้ว แปลว่าเจ้าจอมปรางค์กำลังตั้งครรภ์ แต่ได้มีพระราชดำรัสตอบไปว่า “ ได้ลั่นวาจาเสียแล้ว ให้ให้ไปเถิด ”

ดังนั้น ท้าวนางจึงได้ส่งเจ้าจอมปรางพระราชทานให้ไปเป็นชายาแก่เจ้าพัฒน์ ตามพระบรมราชโองการ แต่เจ้าพัฒน์ในครั้งนั้น เมื่อรับตัวเจ้าจอมปรางไปแล้ว ก็มิได้ถือเอาเป็นชายา ด้วยเหตุผลที่เคารพ ในองค์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นอย่างมาก จึงได้ตั้งไว้ในฐานะเป็น “ แม่วัง ” ส่วนครรภ์ที่ติดเจ้าจอมปรางค์ ไปนั้น ต่อมาก็คลอดออกมาเป็นชาย มีนามว่า “ เจ้าน้อย ” หรือ “ ท่านน้อย ” ก็คือ เจ้าพระยานคร (น้อย) รัฐบุรุษสำคัญท่านหนึ่ง ซึ่งมีความเข้มแข็งในราชการมาก ในสมัยรัชกาลที่ 3 นั่นเอง

เจ้าพระยานคร (น้อย) ผู้นี้ เป็นต้นสกุล ณ นคร ซึ่งเป็นเชื้อสายโดยตรงสายหนึ่งของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

รายที่ 2 พระราชทาน เจ้าหญิงยวน หรือจวน ให้แก่เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) เรื่องเกิดขึ้นทำนองเดียวกับเจ้าพัฒน์กล่าวคือ เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) ได้ไปราชการสงคราม คราวตีเวียงจันทน์ในปี 2321-2322 ซึ่งยังผลให้ได้ พระแก้วมรกต กลับคืนมาเป็นของไทยเราตามเดิมนั้น เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) ปฏิบัติการรบองอาจกล้าหาญเป็นผลดีแก่ราชการเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นอย่างยิ่ง

แต่ในระหว่างที่ปฏิบัติการรบอยู่ที่เวียงจันทน์นั้นเอง ท่านผู้หญิงนครราชสีมาก็ได้ถึงอนิจกรรมลง ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้โปรดพระราชทานเจ้าหญิงยวน หรือจวน ซึ่งเป็นธิดาอีกองค์หนึ่งของพระเจ้านครศรีธรรมราช ให้ไปเป็นภริยา เป็นบำเหน็จความชอบแก่เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) ในราชการสงครามคราวนั้น

เรื่องก็เช่นเดียวกันกับกรณีเจ้าพัฒน์อีก กล่าวคือ เจ้าหญิงยวน หรือจวนนั้นได้รับราชการฝ่ายในเป็นบาทบริจาริกามาจนมีครรภ์อ่อนๆ แล้ว และเมื่อเจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) รับพระราชทานไป ก็เอาไปเป็นแม่เมือง มิได้ถือเอาเป็นภริยา ด้วยความคารวะในองค์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

ครรภ์ที่ติดเจ้าหญิงยวนไปนั้น ต่อมาก็ได้คลอดออกมาเป็นเจ้าชาย ราวปี พ.ศ.2323 เมื่อเจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) มีใบบอกเข้ามากราบบังคมทูล ก็โปรดพระราชทานเครื่องอิสริยยศอย่างพระองค์เจ้า และพระราชทานนามไปว่า “ ทองอินทร์ ” เมื่อเจริญวัยเติบใหญ่ขึ้นมา ก็ได้รับราชการอยู่ ณ เมืองนครราชสีมาจนกระทั่งได้เป็น เจ้าพระยากำแหงสงคราม รามภักดี อภัยพิริยะ ปรากรมพาหุ ผู้สำเร็จราชการเมืองนครราชสีมา หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “ เจ้าพระยานครราชสีมา ” ในสมัยรัชกาลที่ 3