ต่อมาได้มีผู้ละเมิดไปวิวาทรังแกคนจีนในเมืองนั้น ต้องถูกลงพระราชอาญาถึงประหารชีวิต จดหมายรายวันทัพจดไว้ ดังนี้ “ อนึ่งทนายเลือก 2 คนเสพสุราแล้วไปวิวาทกับจีน เอาดาบฟันเอาจีนเจ็บป่วย จึงถามได้เนื้อความถ่องแท้แล้ว ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน 2 หวายแล้วให้ตัดศีรษะเสีย ”

พระราชอุปนิสัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อีกประการหนึ่งที่ปรากฏอยู่เสมอก็คือ ความเอื้ออาทรต่อญาติมิตร ตลอดจนทหารและข้าราชการโดยทั่วๆ ไป แม้จนกระทั่ง ต่ออาณาประชาราษฎร์ สำหรับญาติมิตรตลอดจนนายทหารและข้าราชการที่ใกล้ชิดเมื่อได้ประกอบความดีความชอบ พระองค์ก็ทรงแต่งตั้งยศถาบรรดาศักดิ์เป็นที่เชิดหน้าชูตา ได้พระราชทานบำเหน็จรางวัลอย่างไม่เสียดาย แม้จนกระทั่งทรงยกเจ้าจอมอย่างน้อยก็ 2 คน พระราชทานแด่เจ้าพระยานครศรีธรรมราชและเจ้าพระยานครราชสีมา

ในพงศาวดารมอญเรื่องราชาธิราช ตอนหนึ่งกล่าวว่าครั้งหนึ่งพระเจ้าราชาธิราชได้พระราชทานนางอุตะละ พระสนมคนโปรดให้แก่สมิงนครอินทร์ทหารเอก ตามที่เจ้าตัวแสดงความปรารถนา แต่แล้วสมิงนครอินทร์ก็ได้ถวายกลับคืนไป ด้วยเป็นการลองพระทัยมากกว่า จึงนับว่ามิได้พระราชทานจริง แต่สำหรับเรื่องราวในพงศาวดารไทยสมัยกรุงธนบุรีแล้ว ปรากฏว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้พระราชทานพระสนม แก่นายทหารคนสำคัญไปถึง 2 คน โดยที่มิได้มีการถวายกลับคืนมาเหมือนดังปรากฏอยู่ในพงศาวดารมอญเรื่องราชาธิราชเลย

รายที่ 1 พระราชทาน เจ้าหญิงปราง (หนูเล็ก) ให้แก่เจ้าพัฒน์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นพระมหาอุปราชเมืองนครศรีธรรมราช (เมืองนครศรีธรรมราชในสมัยกรุงธนบุรีตอนนั้น มีกษัตริย์ปกครองทรงพระนามว่า “ พระเจ้าขัตติยราชนิคม ” หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า “ พระเจ้านครศรีธรรมราช ” หรือที่รู้จักกันดีในนามว่า “เจ้านคร” ผู้ตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้า ภายหลังกรุงแตกในปี 2310 นั่นเอง)

เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งนั้น (ปีพ.ศ.2317) เจ้าพัฒน์ไปราชการที่สงครามแล้ว เจ้าหญิงนวล ชายา ซึ่งเป็นธิดาของพระเจ้านครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ข้างหลังได้สิ้นชีวิตลง เจ้าพัฒน์มีความเศร้าโศกมาก ครั้นเสร็จราชการสงคราม เจ้าพัฒน์ผู้มีความชอบก็ได้มาเข้าเฝ้า

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงมีพระราชดำรัสปลอบว่า “ อย่าเสียใจเลย จะให้น้องสาวไปแทนตัวจะได้เลี้ยงลูก ” (การที่มีรับสั่งว่า “ จะให้น้องสาวไปแทนตัว จะได้เลี้ยงลูก ” นั้น ก็เนื่องด้วยเจ้าจอมปรางมิใช่ใครอื่น เป็นธิดาของพระเจ้านครศรีธรรมราชเช่นกัน และเป็นน้องสาวแท้ๆ ของเจ้าหญิงนวล ชายาของเจ้าพัฒน์ที่วายชนม์ไปแล้วนั่นเอง) ตรัสเสร็จก็เสด็จขึ้น