 |
17.1 พระราชอุปนิสัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นอย่างไร ?
ตั้งแต่เยาว์วัยมา พระองค์มิใช่เด็กเรียบร้อยนัก กล่าวคือ ทรงมีนิสัยซุกซน และชักนำให้เด็กอื่นประพฤติตาม เช่นการนำการเล่นการพนันเข้าไปในวัดจนถูกพระอาจารย์ลงโทษ และถ้ารวบรวมประพฤติเหตุต่างๆ ในวัยเยาว์ของพระองค์ เราจะเห็นได้ว่าท่านทรงมีพระราชอุปนิสัยเป็น ผู้นำ มาแต่ทรงพระเยาว์
ต่อมาเมื่อเข้ารับราชการในระยะแรกพระองค์ก็มิใช่ข้าราชการที่เพียงแต่รับคำสั่งเท่านั้น แต่ได้ใช้วิชาความรู้ที่ทรงเรียนรู้มาให้เป็นประโยชน์ทั้งทางด้านกฎหมาย ระเบียบราชการ และการที่พระมหากษัตริย์ทั้งสมเด็จพระเจ้าบรมโกศและสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงไว้วางพระราชหฤทัย ให้ปฎิบัติราชการเกี่ยวกับเรื่องคดีความที่ฟ้องร้องกัน ย่อมแสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงมีนิสัยรักความยุติธรรม ทั้งนี้เมื่อทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระนิสัยนี้ก็ยังเป็นที่ประจักษ์ยกเว้นแต่เวลาที่ทรงกริ้ว
นายทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา (2544 : 12-13 ) ได้เขียนสดุดีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชว่า ทรงประกอบไปด้วยความยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเสด็จไปปราบเจ้านครศรีธรรมราช พ.ศ.2312 มีการต่อสู้กัน ในที่สุดก็จับตัวเจ้านครได้ ลูกขุนปรึกษาว่าโทษของเจ้านครฯ ถึงสิ้นชีวิตแต่ไม่ทรงเห็นชอบด้วย ดำรัสว่าในเวลาบ้านแตกเมืองเสีย ต่างคนต่างตั้งตัวหมายจะเป็นใหญ่ด้วยกัน เจ้านครยังไม่เคยเป็นข้ามาแต่ก่อน ที่รบพุ่งต่อสู้จะเอาเป็นความผิดไม่ได้ ครั้นจับตัวมาได้ เจ้านครก็อ่อนน้อมยอมตัวเป็นข้าโดยดี ควรเอาตัวไปไว้รับราชการที่ในกรุง
ทรงมีไหวพริบอันดี เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากฯ รวบรวมพรรคพวกหนีออกไปจากกรุงศรีอยุธยาก็เป็นที่แจ้งชัดอยู่ กล่าวคือทรงเลือกทางหนีทีไล่ที่พม่าไม่สามารถต้านทานได้ทั้งนี้เพราะพม่ามีกำลังไม่มาก (ถึงจะมากกว่าท่าน) ทั้งเพราะไม่เจนภูมิประเทศ อีกทั้งพระองค์ทรงเลือกเดินทางอย่างเลี้ยวไปเลี้ยวมามิใช่เพื่อหลอกล่อพม่า แต่เพื่อให้พม่ายิ่งงงงวยต่อการติดตามมากขึ้น คือเมื่อออกจากกรุงศรีอยุธยาทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ (บางท่านกล่าวว่าด้านตะวันออก) ก็ไปตามคลองบ้าง ท้องนาบ้าง จนพ้นเขตพระนครศรีอยุธยาไปถึงนครนายกและปราจีนบุรีตามลำดับ โดยต้องปะทะกับพม่าไม่กี่ครั้ง คือในเขตต่อระหว่างอยุธยากับนครนายกและที่ใกล้เมืองปราจีนบุรี แล้วก็ข้ามแม่น้ำปราจีนหาทางออกทะเลด้านตะวันออก คือไปทางแปดริ้ว (ฉะเชิงเทรา) ต่อไปเมืองชลบุรีซึ่งทรงทราบแล้วว่าพม่ามิได้รบกวนไปถึง อีกทั้งข้าวปลาอาหารยังอุดมสมบูรณ์ แผนการณ์ในระยะนั้น ก็เพื่อไปชักชวนและรวบรวมกำลังกลับมารบขับไล่พม่าไปจากกรุงศรีอยุธยานั่นเอง แต่ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ต้องรบและฆ่าฟันคนไทยด้วยกันก่อนที่จะรวบรวมกำลังได้ตามแผน |
|
|