หมายเหตุ :
1. สมโชติ อ๋องสกุล (2545 : 3-4) ได้กล่าวถึง ประวัติเจ้าศรีอโนชา หรือเจ้าศิริรจนา ว่าช่วงเวลาที่พระยากาวิละรับเสด็จทัพหลวงแห่งกรุงธนบุรีและถวายนัดดานารีเป็นบาทบริจาริกานั้น แม่ทัพเอกแห่งกรุงธนบุรีคือ เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ (บุญมา) ได้มีโอกาสเห็นโฉมของแม่นางศรีอโนชาน้องสาวของพระยากาวิละรู้สึกต้องใจ จึงให้คนมาทาบทามขอนางดังพงศาวดารบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า “… เจ้าพระยาสุรสีห์ ก็มีใจรักใคร่ยังนางศรีอโนชา ราชธิดาอันเป็นน้องเจ้ากาวิละ จึงใช้ขุนนางผู้ฉลาดมาขอเจ้าทั้ง 7 พระองค์พี่น้อง มีเจ้าชายแก้ว พระบิดาเป็นประธาน รำพึงเห็นกัลยาณมิตรอันจักสนิทต่อไปภายหน้า ก็เอายังนางศรีอโนชาถวายเป็นราชเทวีแห่งเจ้าพระยาเสือคือ เจ้าพระยาสุรสีห์ นั้นแล (ดูพงศาวดารสุวรรณหอคำ นครลำปาง ตำนานเจ้าเจ็ดพระองค์ กับหอคำมงคล ฉบับสอบทานเอกสาร โดยศักดิ์ รัตนชัย อ้างในทิว วิชัยขัทคะ “ พระอัครชายาเธอเจ้าศรีอโนชา ” เจ้าหลวงเชียงใหม่ . กรุงเทพฯ : คณะทายาทสายสกุล ณ เชียงใหม่ , 2539 หน้า 266)

เมื่อเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ได้รับเจ้าศรีอโนชาจากเจ้าชายแก้วผู้เป็นพ่อและเจ้ากาวิละผู้เป็นพี่ พร้อมเจ้านายแห่งนครลำปาง แล้วก็ “ เสด็จเมือ ” ทางเมืองสวรรคโลกกลับกรุงธนบุรีให้เจ้าศรีอโนชาเป็นท่านผู้หญิงแห่งบ้านปากคลองบางลำพู กล่าวได้ว่า หลังศึกฟื้นม่านที่เชียงใหม่ ปี พ.ศ.2317 สาวงามจากนครลำปางก็ได้ติดตาม(เจ้าพระยาสุรสีห์) … เป็นเทวีของแม่ทัพแห่งกรุงธนบุรี 1 คน โดยได้ทำงานเพื่อแผ่นดินสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างธนบุรีกับล้านนา ”

2. หนังสือไทยรบพม่า (ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ได้บันทึกบทบาทของเจ้าศรีอโนชา หรือเจ้าศิริรจนาไว้ว่า “ เมื่อเกิดการรบขึ้นนั้น เจ้าศิริรจนา ท่านผู้หญิงของเจ้าพระยาสุรสีห์ อยู่ที่บ้านปากคลองบางลำภู รู้ข่าวว่าข้าศึกมาปล้นบ้านพระยาสุริยอภัย จึงคิดอ่านกับพระยาเจ่ง พระยาราม นายกองมอญเพื่อปราบกบฏ ”

ขณะเดียวกันตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ บันทึกว่า “เจ้าศรีอโนชาได้ใช้ดั้น (จดหมาย) ไปหาชาวปากเพรียวเข้ามา แล้วมีอาชญาว่า “ คันสูยังอาษาพระยาสิง พระยาสันได้ ในเมื่อกูมีชีวิต กูบ่หื้อสูได้ทำการบ้านเมือง จะหื้อสูสะดวกค้าขายตามสบายเท่าเว้นไว้แต่การกูต้องประสงค์ว่าฉันนั้น ชาวปากเพรียวอาษาเข้ายับ (จับ) เอาพระยาสิงห์พระยาสันได้แล้วฆ่าเสีย ” (สมโชติ อ๋องสกุล, 2545 : 4) พระยามอญทั้งสองก็รับอาสา