 |
หมายเหตุ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ทรงปรารภถึงคำวีรมหาราชไว้ตอนหนึ่งว่า
สังเกตในเรื่องประวัติของวีรมหาราชทั้งหลายดูมีเค้าคล้ายกันหมด คือบ้านเมืองต้องมียุคเข็ญ จึงมีวีรมหาราชอย่างหนึ่ง วีรมหาราชย่อมเป็นบุรุษพิเศษ มีสติปัญญาและความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวผิดกับผู้อื่นมาในอุปนิสัยอย่างหนึ่ง และสามารถทำให้ผู้อื่นเชื่อถือไว้วางใจในพระปรีชาสามารถมั่นคงอย่างหนึ่ง จึงสามารถบำเพ็ญอภินิหารกู้บ้านเมืองและแผ่ราชอาณาเขตจนเป็นพระราชาธิราชได้ สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงพระคุณสมบัติดังกล่าวมาบริบูรณ์ทุกอย่าง
ในสมัยกรุงธนบุรีนั้นได้มีผู้ถวายพระปรมาภิไธยว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มาก่อนสร้างอนุสาวรีย์ที่วงเวียนใหญ่ ธนบุรีแล้ว แต่ทางราชการยังไม่เรียกขานตาม แม้เมื่อมีรัฐพิธีเปิดพระบรมรูปเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2497 ก็ยังออกพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน กรุงธนบุรีอยู่ตามเดิม ถึงกระนั้นพันโทหลวงรณสิทธิชัย อธิบดีกรมศิลปากรในเวลานั้น ก็ได้เขียนไว้ในพระราชประวัติที่พิมพ์แจกในวันเปิดอนุสาวรีย์ตอนหนึ่งว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงประกอบพระราช กรณียกิจด้วยน้ำใจชายชาติทหารโดยแท้ ได้ทรงกระทำทุกอย่างนับตั้งแต่หน้าที่ของประชาชนคนไทยผู้รักชาติจะพึงกระทำ แม้พระองค์จะอยู่ในฐานะเช่นไรก็ตามมิได้ทรงทอดทิ้งหน้าที่ของคนไทยเลยแม้แต่น้อย พระองค์ทรงเป็นข้าที่ซื่อสัตย์ เป็นนายที่ประกอบด้วยพรหมวิหารธรรม เป็นพระราชาที่ประกอบด้วยทศพิธราชธรรมแก่ที่จะถวายสมัญญาภิไธยว่า มหาราช โดยเป็นผู้ทรงพระคุณอันใหญ่ยิ่งแก่ประชาชนชาวไทยและแก่ประเทศไทย (ส. พลายน้อย, 2544 : 29, 33-34) ( อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในภาคผนวก) |
|
|