 |
ในบันทึกของประวัติศาสตร์จีน เขียนว่า แต้เจียว และมีบันทึกพึงสังเกตไว้ว่า
Mr. Marvell นักเขียนของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ผู้เขียนเรื่อง Naga King's Daughter กับเมืองนครศรีธรรมราช สันนิษฐานว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินได้มาสิ้นพระชนม์ที่นครศรีธรรมราชและบรรจุอัฐิรวมกับอัฐิพระยานคร (น้อย) และบันทึกถึงกรุงรัตนโกสินทร์ต่อจากกรุงธนบุรีว่า ประเทศสยาม สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พ.ศ.2325 (ค.ศ.1782) พระเจ้าเช็งเคี่ยนลัง ครองราชปีที่ 47 แต้ฮั้ว (คือพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) อนุชา แต้เจียวได้ถวัลยราชย์เป็นกษัตริย์ประเทศสยาม และส่งราชทูตไปเจริญพระราชไมตรีเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ชาวนครศรีธรรมราชรุ่นก่อนโน้น จนถึงรุ่นปู่ย่าตายาย เชื่อกันว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมิได้โดนสำเร็จโทษ หากแต่เสด็จฯมาประทับทรงผนวชอยู่ ณ วัดเขาขุนพนม เมืองนครศรีธรรมราช และเสด็จสวรรคตที่เมืองนครฯ นั่นเอง
16.4. 2 ความเห็นของหลวงวิจิตรวาทการ (2544 : 297 361)
หลวงวิจิตรวาทการได้เขียนไว้ตอนหนึ่งในหนังสือเรื่อง ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า ความสำคัญของเรื่องนี้คือว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ได้ถูกประหารโดยคำสั่งของสมเด็จเจ้า พระยามหากษัตริย์ศึกฯ คือสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ไม่ได้ถูกประหารที่กรุงธนบุรี (ณ ป้อมวิชัยประสิทธิ์) และไม่ได้ถูกประหารเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2325 ดังที่เราเชื่อกันในทางประวัติศาสตร์ แต่กลายเป็นว่าได้มีผู้ช่วยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจากการถูกประหาร แล้วนำไปซ่อนไว้ที่อื่น ซ่อนไว้เกือบ 3 ปี จึงสิ้นพระชนม์ด้วยการถูกทำร้าย (2544 : 305)
คนตายแทน คือ หลวงอาสาศึก (หรือ นายบุญคง) มีรูปร่างท่าทางใบหน้าคล้ายสมเด็จพระเจ้าตากสิน เคยรับใช้ใกล้ชิดสมัยอยู่ค่ายวัดพิชัย ได้ออกรบอยู่ข้างพระองค์ที่โพธิ์สังหาร บ้านพรานนก ดงศรีมหาโพธิ และเป็นคนอยู่ข้างเท้าช้างพังคีรีบัญชร เมื่อเข้าตีเมืองจันทบุรี นายบุญคงหรือหลวงอาสาศึก ได้ขออาสาพระยาอำมาตย์ พระยาธิเบศร์ ฯ และเจ้าพัฒน์ (นครศรีธรรมราช) โดยบวชเป็นภิกษุและเข้าไปแทนที่พระภิกษุพระเจ้าตากสิน ขณะประทับที่วัดแจ้ง ( หน้า 326) นายบุญคง ได้ถูกพิพากษาและพาตัวไปประหารชีวิตที่หน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์โดยถูกตัดคอและศพไปฝังที่วัดบางยี่เรือใต้ ณ วันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2325 (2544 : 356 , 360)
สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จไปที่ไหน ?
คน 4 คนมาเชิญเสด็จไป (โดยมิให้ทรงทราบว่าจะพาหนี) โดยอ้างว่าบัดนี้ถูกย้ายวัดแล้ว แ ละ เจ้าหน้าที่ทางบ้านเมืองจะพาไป พระภิกษุพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงทรงยินยอมมากับเขาโดยทางเรือลำเล็กมีฝีพาย 4 คน มาขึ้นเรือสำเภาใหญ่ที่พระประแดง เจ้าพัฒน์นำเสด็จไปประทับที่นครศรีธรรมราช เป็นเวลา 2 ปี โดยยังดำรงอยู่ในสมณเพศตลอดมา และสนพระทัยฝึกวิปัสสนากรรมฐานมิได้ขาด |
|
|