 |
สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงมีพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังนี้
1. ให้หาเงินใช้หนี้ที่ยืมจีนมาใช้ซื้ออาวุธ เสื้อผ้าและอาหาร โดยให้เจ้าหน้าที่กรมท่าจัดสินค้าลงบรรทุกเรือ ออกไปขาย และเอาสินค้านั้นใช้หนี้ ตีเป็นราคาเงิน ยืมมาเท่าไรก็ให้หักออกไป อีกทั้งให้ดอกเบี้ยเขาด้วย
2. ทรงให้ขุนนางออกไปเร่งเก็บภาษีอากร
3. ให้อีกพวกหนึ่งไปกรุงเก่า (กรุงศรีอยุธยา) เพื่อขุดค้นของมีค่าที่เมื่อตอนเสียกรุง ได้ฝังไว้แล้วเจ้าของลืมสถานที่ จำกันไม่ได้ จะได้เอามาผ่อนใช้หนี้สินที่ยืม (จีน) เขามา (วรมัย กบิลสิงห์ , 2540 : 113)
นอกจากนี้ยังได้รับเงินที่จัดมาถวายดังนี้
1. ทหารจีนเก่าของท่านรวบรวมเงินจากญาติมิตรซึ่งเป็นคนค้าขาย มาถวายได้รวมหมื่นตำลึง
2. มารดาและน้องของท่านขุดเอาเงินทองที่ใส่ไหฝังไว้ก่อนกรุงแตกมามอบให้ท่าน
3. ก่อนเสด็จออกจากกรุงศรีอยุธยาตีฝ่าวงล้อมพม่า คุณประยงค์น้องสาวท่านได้ปลอมเป็นชายมากับน้องชายท่าน (เจียนซื่อ) ทำทีเอาขนมและผลไม้จากบ้านสวนมาเฝ้าท่าน แต่ตามความเป็นจริงได้นำเงินตรา ทองแท่ง และเงินแท่งมาถวาย ซึ่งเป็นมรดกส่วนของพระองค์ที่ได้รับส่วนแบ่งจากท่านบิดา (นายอากรบ่อนเบี้ย หรือขุนพัฒน์)
4. พระอนุชา (คุณเจียนซื่อ และคุณเจียนจิ้น) มาเฝ้าครั้งใดก็ได้นำเงินปันผลจากการค้าขายมาถวายทุกครั้ง
5. ญาติๆ ของท่านส่งของออกไปขายยังเมืองจันทบุรีและเมืองใกล้เคียง โดยใช้สำเภาบรรทุกไป และได้เงินจากผู้ช่วยเหลือ 5 พันตำลึง ถึงหนึ่งหมื่นตำลึง ส่วนเรือออกไปค้าขาย 7 วัน ก็กลับมา และคงจะซื้อข้าวจากพ่อค้าญวนกลับมาด้วย (วรมัย กบิลสิงห์ , 2540 : 20, 39, 65, 78, 80-81)
เรื่องการเป็นหนี้จีนและการใช้หนี้ การกู้หนี้ยืมสินจากทางจีนส่วนใหญ่ เกิดจากปัญหาเรื่องอาวุธไม่พอ และที่มีอยู่ก็ชำรุดทรุดโทรม จีนคุงเซียม ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่อยู่ในกรมท่าและรู้จักพวกเรือสำเภา ตลอดจนรู้จักนายทหารกรุงปักกิ่ง เพราะเคยไปกรุงปักกิ่งมาหลายครั้ง ได้รับอาสาจะไปกู้เงินหกหมื่นตำลึงจากพวกพ่อค้า และข้าราชการที่กรุงปักกิ่งมาซื้อดาบและเหล็กมาตีดาบกับอาวุธอื่นๆ (วรมัย กบิลสิงห์ , 2540 : 81-82) โดยจะขอให้สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเขียนสาส์นไปยืมเงินจากทางจีน แต่ท่านเจียนจิ้นน้องชายท่านเป็นผู้เขียนและลงชื่อของพระเจ้าตากสินแทน เพราะต้องการรักษาพระเกียรติยศของสมเด็จพระเจ้าตากสินไว้
เป็นที่รู้กันอยู่ว่าจีนได้ให้สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีทรงยืมทรัพย์สินเงินทองมาจากเมืองจีนจำนวนมหาศาล (หกหมื่นตำลึง) เพื่อทรงใช้จ่ายในการสร้างชาติไทยให้ฟื้นจากสภาพยับเยินเสียหาย หลังจากทรงกอบกู้อิสรภาพของไทยคืนได้มาแล้ว |
|
|