พระองค์น่าจะขาดส่วนสำคัญที่ส่งเสริมการเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ไปบ้าง เช่น ขัตติยะราชประเพณีต่างๆ ภายในราชสำนัก ซึ่งสะท้อนภาพให้เห็นได้ในลักษณะที่เป็นรูปธรรมคือ ทรงประทับอยู่ในพระตำหนักเก๋งจีนขนาดเล็ก ท้องพระโรงที่ออกว่าราชการก็เป็นอาคารโถงธรรมดามิได้มียอดปราสาทแสดงความโอ่อ่าแห่งพระราชอำนาจ พระมหากษัตริย์เหมือนกับพระนครหลวงเดิมที่กรุงศรีอยุธยา พระองค์อาจทรงจัดความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ไว้อยู่ในลำดับหลังสุดแห่งการฟื้นฟูราชอาณาจักรสยาม ดังนั้น พฤติกรรมของพระองค์ที่มีต่อขุนนาง และอาณาประชาราษฎรจึงผิดไปจากอดีตพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ทั้งๆ ที่ภาพอันศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นเพิ่งผ่านพ้นไปเพียงไม่นาน ยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนทั่วไป สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นข้ออ้างทางการเมืองถึงสภาพการวิกลจริต อันหมายถึงการหมดสิ้นบุญญาธิการในการเป็นพระมหากษัตริย์ของพระองค์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงต้องสูญเสียอำนาจและถูกปลงพระชนม์ในที่สุด เมื่อ พ.ศ.2325 ( พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ , สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคกลาง เล่ม 8 บุหลันลอยเลื่อน – เพลง : พรหมพิราม , อำเภอ , 2542 : 3562)

เครื่องราชกกุธภัณฑ์
(ภาพจากหนังสือพระแสงศัสตราประจำเมือง)

ข . สุจิตรา อ่อนค้อม (2543 : 62) ได้กล่าวแสดงความเห็นไว้ดังนี้

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเป็นกษัตริย์ที่ได้รับการถวายพระนาม มหาราช และทรงเป็นมหาราชพระองค์เดียวที่ไม่มี เบญจราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งหมายถึง เครื่องหมายความเป็นพระราชามี 5 อย่างคือ พระขรรค์ ธารพระกร อุณหิส ( มงกุฎ ) ฉลองพระบาท และวาลวิชนี ( พัดและแส้จามรี ) ถ้าหากมองในแง่วัตถุดูเหมือนว่าทรงเป็นกษัตริย์ที่อาภัพที่สุด แต่หากมองในแง่ธรรมะแล้ว พระองค์กลับได้รับการสดุดีว่าเป็นกษัตริย์ที่เข้าถึงธรรม ด้านปริยัติและปฏิบัติ โดยเฉพาะด้านการปฏิบัตินั้นทรงเชี่ยวชาญทั้งสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน จากประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ว่าพระองค์มีพระสัญญาวิปลาสนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

การที่ประวัติศาสตร์ต้องบันทึกไว้เช่นนั้น คงเป็นด้วยเหตุผลทางการเมือง ซึ่งยึดความอยู่รอดปลอดภัยของประเทศชาติเป็นสำคัญ ”