ประวัติศาสตร์สยามตามที่จีนทราบนั้นกล่าวว่า เสียนหลอกวั๋ว เดิมแบ่งออกเป็นสองประเทศคือ หลอสัว (Lo-Tsho หรืออาณาจักรละโว้ ) และ สฉวน (Hsuan หรืออาณาจักรสุโขทัย ) หลอสัวนั้นเจริญขึ้นภายใต้อำนาจขอม มาในสมัยราชวงศ์ซุ่ง (Sung) ปีที่ 2 รัชกาลพระเจ้าเจิ้นเขอ (Cheng-Ho) พ.ศ.1657 หลอสัวเริ่มมีสัมพันธไมตรีกับจีน ส่วนสฉวนนั้นเกิดทำสงครามกับหลอสัวและมาเริ่มมีสัมพันธไมตรีกับจีนสมัยราชวงศ์ซุ่ง ในปีที่ 5 รัชกาลพระเจ้าเป่าโย่ (Pao Yao) พ.ศ.1800 จนปลายสมัยราชวงศ์หยวน (Yuan) ทางจีนจึงได้ส่งทูตไปยังอาณาจักรสฉวน 3 ครั้ง และทางสฉวนก็ได้ส่งทูตไปจีน 9 ครั้ง และหลอสัวส่งทูตไปจีน 5 ครั้ง
ในปีที่ 10 รัชกาลพระเจ้าซื้อเจิ้น (Chih chen) พ.ศ.1893 สมเด็จพระเจ้าอู่ทองได้ตั้งอาณาจักรอยุธยาขึ้นและทรงสถาปนาพระองค์เองเป็นพระรามาธิบดีพระองค์แรก
ในปีที่ 10 รัชกาลพระเจ้าหงอู่ (Hung-Wu) แห่งราชวงศ์หมิง พ.ศ.1920 กษัตริย์แห่งอาณาจักรหลอสัวทรงพระนามว่า ชั่นเดียเป่าพียา ( สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือขุนหลวงพงั่ว ) ทรงทำศึกกับอาณาจักรสฉวน มีชัยชนะ ในเดือนกันยายน พ.ศ.1920 กษัตริย์พระองค์นี้ทรงส่งพระราชโอรสเสด็จไปเมืองจีนเพื่อนำ ช้าง ไม้ และทอง ไปถวายพระเจ้าอู่ทอง หรือพระเจ้าหมิงไท่สู่ (Ming-Tai-Hsu ทรงครองราชย์อยู่ระหว่าง พ.ศ.1911-1942) พระเจ้าหมิงไท่สู่ ได้ พระราชทานตรา (Seal) ซึ่งมีตำแหน่งจารึกว่า เสียนหลอกวั๋วหวังซื่ออิ้น ให้แก่พระราชโอรสพระองค์นั้นกลับมา จากระยะเวลาดังกล่าวเป็นต้นมา จีนจึงเรียกสยามว่า สฉวนหลอ (Hsuan-Lo) จีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า เสียมล้อ
ในสมัยราชวงศ์หมิง (Ming) นี้สยามและจีนมีสัมพันธไมตรีเป็นอันดี มีการแลกเปลี่ยนทูตกันบ่อยครั้ง คือ ทูตจากสฉวนหลอไปจีนรวม 97 ครั้ง กษัตริย์จีนของราชวงศ์หมิงทุกพระองค์ก็ทรงสืบราชประเพณีที่กษัตริย์พระองค์แรกทรงทำไว้
สมัยราชวงศ์ชิง (Ch'ing) สฉวนหลอยังคงส่งเครื่องราชบรรณาการไปจีนอยู่ ดังในปีที่ 9 รัชกาลพระเจ้าซื่อจู๋ (Shun Chih) ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2195 สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงส่งทูตนำเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีน โดยที่ทรงขอพระราชทานตราประทับด้วย ซึ่งทางพระเจ้ากรุงจีนก็ได้พระราชทาน ตราทำด้วยเงินกะไหล่ทอง ยอดแกะเป็นรูปตัวอูฐ ที่ตราประทับนั้นแกะจารึกข้อความว่า สฉวนหลอกวั๋วหวัง แปลว่า กษัตริย์แห่งประเทศสฉวนหลอ
|