ข้อความในพระราชสาส์นของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ศาสตราจารย์ฉู่เหวินเจี้ยวแปลไปมีความว่า
ใน พ.ศ.2324 ตรงกับ จ.ศ.1143 (ตรงกับปีที่ 46 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง) ราชวงศ์สือน่าผู่ลี่ ( ธนบุรี ) ได้ขอส่งเครื่องราชบรรณาการมายังพระเจ้ากรุงจีน ด้วยว่าเจิ้นเจ้าคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างเป่ผิงกับสยาม จึงได้ส่งทูตคือ พระยาสุนถัวหลออาเพ่ ( พระยาสุนทรอภัย ) และหลันพี่ตู้เย๋ซาหนีเดอะ ( หลวงพิชัยเสน่หา ) กับคนรับใช้ และหลันผัวเจอน่าพีหมอหลัว ( หลวงพจนาพิมล ) และขุนนางอีกคนหนึ่งคือขุนผัวเจอน่าพีซือตัวหลัว ( ขุนพจนาพิจิตร ) และวั่นพี่พี่ถัวฟ้าเจ้อ ( หมื่นพิพิธวาจา ) ราชทูตคณะนี้ได้นำแผ่นทองและสิ่งของต่างๆ เช่น ช้างพลาย ช้างพังอันเป็นการปฏิบัติตามราชประเพณีที่เคยมีมา นอกจากนี้ซื่อลี่อยุธยา ( กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ) เจิ้นเจ้าใครขอให้พระเจ้ากรุงจีนทรงตอบความเป็นหลายข้อซึ่งมีว่า

1. พระยาซ้วยท้วนหย่าผายน่าถู (พระยาสุนทรอภัยราชา) ซึ่งเป็นราชทูตของสยาม เมื่อกลับไปสยามแล้วได้กราบทูลว่าขุนนางที่เป่ผิงขอให้เขาจ่ายค่าภาษีต่างๆ ที่ส่งไปถวายพระเจ้ากรุงจีนเป็นเงิน 30 ชั่ง (2,400 บาท) จึงใคร่ขอทูลถามว่าพระองค์ทรงทราบเรื่องนี้หรือไม่ และซื่อลี่อยุธยา ( เจิ้นเจ้า ) ใคร่ที่จะทรงทราบถึงลักษณะที่แท้จริงของเจ้าเมืองนี้

2. กษัตริย์สยามพระองค์ใหม่ ( เจิ้นเจ้า ) ได้ส่งขุนนางไปจีนโดยนำเรือไปจากสยาม ซึ่งเรือลำนั้นก็เป็นเรือสยาม แต่ทางจีนกลับไม่ยอมให้ขุนนางไทยใช้เรือลำนั้นกลับสยาม แต่บังคับให้ใช้เรือจีน แม้ว่าขุนนางไทยจะขอใช้เรือลำเดิม ขุนนางจีนก็ไม่ยอม ไม่เพียงแต่ไม่ยอมฟังเท่านั้น แต่ยังให้ขุนนางไทยจ่ายเงินให้อีก 4 ก้อนด้วย พระองค์ทรงทราบหรือไม่

3. ทูตสยามมีทั้งขุนนางผู้ใหญ่และผู้น้อยที่นำเครื่องราชบรรณาการมาถวายพระเจ้ากรุงจีน แต่กลับถูกกักขังให้อยู่แต่ภายในเรือนพักในเมืองหลวง ไม่ยอมให้ไปไหน ซื่อลี่อยุธยาสงสัยว่าพระเจ้ากรุงจีนทรงทราบหรือไม่

4. สยามได้ตีเผ่าไออีที่บริเวณชายแดนได้ และได้ส่งเชลยเหล่านี้ไปยังเมืองหลวงของจีนเพื่อให้ทางจีนสอบปากคำ เชลยเหล่านี้มีบ้านเรือนอยู่ในสยาม และมิได้คิดที่จะต่อสู้กับพม่า ดังนั้น ซื่อลี่อยุธยาทูลมาเพื่อขอให้พระเจ้ากรุงจีนโปรดได้ส่งเชลยเหล่านั้นกลับไปสยาม แต่พระองค์ก็ทรงเพิกเฉยต่อคำขอร้องของกษัตริย์สยาม