และขณะนี้เจิ้นเจ้าก็ได้รับการเชื้อเชิญและยินยอมให้ส่งเครื่องราชบรรณาการได้ ทันทีที่ท่านส่งมาถึงแล้วทางกว่างตุ้งก็จะถวายรายงานขึ้นไป เมื่อทางเจิ้นเจ้าว่าต้องการพระบารมีของพระเจ้ากรุงจีนไปช่วยปกครองประเทศ ทางกว่างตุ้งก็ทราบทันทีว่าเจิ้นเจ้าต้องการตำแหน่งพิเศษจากจีน แต่เจิ้นเจ้าก็มิได้กล่าวอย่างชัดแจ้ง นี่จึงทำให้ทางกว่างตุ้งไม่ได้ถวายรายงานขึ้นไป แต่ถ้าเจิ้นเจ้าได้เตรียมเครื่องราชบรรณาการมาพร้อมทั้งส่งทูตและขุนนางมา พร้อมทั้งอธิบายถึงองค์รัชทายาทของกษัตริย์พระองค์ก่อน และเจิ้นเจ้าได้ขอให้ทางกว่างตุ้งถวายรายงานนี้ ทางกว่างตุ้งก็เต็มใจที่จะถวายรายงานให้ทันที หนังสือฉบับนี้ได้มอบให้ทูตไทย คือพระยาซ้วยท้วนหย่าผายน่าถู นำกลับไปมอบให้เจิ้นเจ้าเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พร้อมทั้งมอบของขวัญคืออาหารและผ้าไหมให้ด้วย มีขุนนางจีนจากหนานไห่ไปส่งทูตไทยลงเรือกลับไทยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม
จากหนังสือกงถิงจ๋าจี้ ( จดหมายเหตุประจำราชสำนัก ) บันทึกว่า ในเดือนที่สิบเอ็ด ปีที่ 42 (พ.ศ.2320) รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง สยามได้ส่งทูตไปเมืองหลวงของจีน เพื่อ เข้าเฝ้า พระเจ้ากรุงจีนและกราบทูล ขอเจ้าหญิงจีนมาอภิเษก ด้วย แต่อย่างไรก็ดี เมื่อมีการตรวจสอบเรื่องนี้ทั้งในจดหมายเหตุไทยและของจีนก็ไม่พบความดังกล่าวนี้แต่ประการใด เมื่อครั้งที่เจิ้นเจ้าส่งราชทูตไปในปีที่ 33 (พ.ศ.2311) รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลงนั้น เป็นการกราบทูลของพระราชทานตำแหน่งพิเศษจากพระเจ้ากรุงจีน ครั้งนั้นราชทูตได้กล่าวว่า ถ้าเจิ้นเจ้าโชคดีได้รับพระราชทานตำแหน่งพิเศษ ก็จะสามารถรับใช้พระเจ้ากรุงจีนได้ เพราะประชาชนในสยามก็จะรวมตัวกันมีความเชื่อมั่นในเจิ้นเจ้ามากขึ้น และสามารถเข้าโจมตี ฝูซื่อลู่ ลู่ควน เกาเลีย ได้ และเจิ้นเจ้าก็จะได้เตรียมเรือนำของขวัญต่างๆ ไปจีน และจะจงรักภักดีต่อจีนตลอดไป แม้ว่าชาวสยามจะได้อัญเชิญเจิ้นเจ้าขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่ถ้าเจิ้นเจ้ามิได้รับตำแหน่งพิเศษจากพระเจ้ากรุงจีนแล้ว เจิ้นเจ้าก็จะไม่ถือว่าได้รับตำแหน่งที่ถูกต้องและไม่อาจจะรวมประเทศได้ ทั้งประเทศเพื่อนบ้านก็จะไม่ยอมรับนับถือด้วย
ในปีที่ 42 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง ราชทูตสยามพระยาซ้วยท้วนหย่าผายน่าถูได้แจ้งให้จีนทราบว่าเจิ้นเจ้าได้พยายามแก้แค้นแทนกษัตริย์พระองค์เก่า และเขาควรที่จะได้รับอำนาจจากการยอมรับของพระเจ้ากรุงจีน และถ้าสยามได้มีโอกาสส่งเครื่องราชบรรณาการต่อไปแล้ว ก็จะเป็นที่ยอมรับของเพื่อนบ้าน ทั้งจะมีพลังไปต่อสู้ศัตรู นอกจากนี้เจิ้นเจ้าได้วางแผนที่จะให้เป็นที่ยอมรับของชาวสยามทั้งประเทศ มีกองทัพที่มั่นคงในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งที่หลีกเลี่ยงที่จะรบกับเพื่อนบ้าน แล้วก็จำเป็นที่จะต้องให้เป็นที่ยอมรับของพระเจ้ากรุงจีนๆ ทรงอนุญาตให้ส่งเครื่องราชบรรณาการ ดังนั้น เราอาจจะเห็นข้อสำคัญที่เจิ้นเจ้าได้พยายามที่จะส่งเครื่องราชบรรณาการหลายครั้ง ก็เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองนั่นเอง
เมื่อราชทูตสยามไปยังราชสำนักจีนก็ได้รับการต้อนรับจากพระเจ้ากรุงจีน ราชสำนักจีนได้ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบการส่งเครื่องราชบรรณาการ และเตรียมของตอบแทนให้ราชทูตนำกลับมามอบให้เจิ้นเจ้า แต่อย่างไรก็ดี เจิ้นเจ้าก็ยังไม่ได้รับตำแหน่งที่เป็นทางการจากจีน |