 |
เดือนมิถุนายน ในปีที่ 42 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง (พ.ศ.2320) เจิ้นเจ้าได้ส่ง พระยาซ้วยท้วนหย่าผายน่าถู ( พระยาสุนทรอภัยราชาราชทูต ) ไปกว่างตุ้ง เพื่อกราบทูลขอพระบรมราชานุญาตให้สยามส่งเครื่องราชบรรณาการ ในครั้งนี้ทางจีนได้มีความคิดเห็นว่าเจิ้นเจ้าเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์มาก และทางสยามสืบค้นหาองค์รัชทายาทไม่ได้ จีนจึงเริ่มรับรองเจิ้นเจ้าและอนุญาตให้สยามส่งเครื่องราชบรรณาการ อย่างไรก็ดี ในเวลานั้น สยามยากจนมาก ไม่มีของในท้องพระคลังที่จะส่งเครื่องราชบรรณาการ เพราะเนื่องจากต้องทำสงครามกับพม่าและรวบรวมประเทศ เจิ้นเจ้าจึงกราบทูล ขอเลื่อนการส่งเครื่องราชบรรณาการ
วันที่ 29 มิถุนายน หัวหน้ากองกำลังกองโจรชื่อ เฉินต้าหยัง เมืองกว่างโจว มณฑลกว่างตุ้งรายงานมาว่า มีเรือสินค้าออกจากไทยเดินทางกลับกว่างตุ้ง ในเรือมีขุนนางไทย 3 คน นำเครื่องราชบรรณาการมาถวายพระเจ้ากรุงจีนพร้อมด้วยทหาร 15 คน และเชลยจากพม่าอีก 6 คน ดังนี้ หลี่ซื่อเหยาจึงยังมิได้ส่งหนังสือไปยังเจิ้นเจ้าเพราะคิดว่าจะได้ส่งไปพร้อมกับคณะทูตนี้ ขณะนั้นมณฑลกว่างตุ้งเปลี่ยน ผู้ดูแลมณฑล ใหม่เป็น หยังจิ่งซู่ ซึ่งได้มอบให้ขุนนางชื่อ เปียวเปี้ยน ไปต้อนรับขุนนางทั้งสามคน
วันที่ 1 กรกฎาคม ขุนนางไทยได้นำหนังสือของเจิ้นเจ้ามาเพื่อถวายพระเจ้ากรุงจีน หยังจิ่งซู่จึงแจ้งไปยังเจ้าเมืองกว่างโจวคือ หลี่สือหยิง ให้ไปต้อนรับพวกขุนนางไทยคือ พระยาซ้วยท้วนหย่าผายน่าถู ราชทูตกับขุนนางอีกสองคนเพื่อให้คอยหมายรับสั่ง พร้อมทั้งได้สอบถามรายละเอียดต่างๆ จากขุนนางไทย ซึ่งก็ได้ให้รายละเอียดว่า เจิ้นเจ้าได้พยายามแก้แค้นแทนกษัตริย์พระองค์ก่อนและหวังที่จะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้ากรุงจีน และจะได้ให้เข้าเฝ้าถวายเครื่องราชบรรณาการอันจะทำให้เจิ้นเจ้ามีความมั่นคงทางอำนาจยิ่งขึ้น เพราะหัวหน้ารัฐอื่นๆ ก็จะยอมรับเจิ้นเจ้า ทั้งยังจะมาช่วยรบพม่าอีกด้วย และนี้เป็นเหตุผลว่าทำไมเจิ้นเจ้าจึงได้ส่งขุนนางทั้งสามมายังจีนก็เพื่อขอเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงจีน และเมื่อปีที่แล้วไทยได้ต่อสู้กับพม่า จับพม่าเป็นเชลยมาได้ 300 คน แต่อย่างไรก็ดีเชลยพวกนั้นก็ได้ตายลงทีละคนสองคน เท่าที่เหลืออยู่ก็ส่งมาจีน ในบรรดาพวกนี้มี อ่ายเค้อ อ่ายสวย ซึ่งเป็นขุนนางใกล้ชิดกับเจ้าเมืองอังวะ และยังมี อ่ายเย่า คนรับใช้ของอ่ายเค้อ เนื่องจากกฎของจีนเกี่ยวกับเชลยชาวต่างประเทศนั้น พวกเขาจะต้องได้รับคำสั่งพิเศษจากพระเจ้ากรุงจีนเสียก่อน จึงจะส่งขุนนางไทยให้นำเครื่องราชบรรณาการไปถวายได้
อย่างไรก็ดีตั้งแต่เจิ้นเจ้าได้ปกครองเมืองไทยนั้น ยังมิได้รับตำแหน่งพิเศษ จึงพยายามส่งสาส์นมาขอถวายเครื่องราชบรรณาการ และข้อความที่มีถึงพระเจ้ากรุงจีนจึงเป็นไปในรูปของการเคารพยกย่องมาก |
|
|