รายงานอีกฉบับหนึ่งแจ้งว่า กองทัพพม่ายึดเมืองหลวงได้และตีค่ายทหารไทยได้ 47 ค่าย ดังนั้นทั่วทั้งประเทศก็เต็มไปด้วยทหารพม่า พวกข้าราชการทุกคนก็พยายามอยู่กับครอบครัวไม่ออกรบ ยกเว้นคนจีนบางคนที่พยายามต่อสู้พม่า ทั่วทั้งประเทศระยะนี้ยากจนลงเพราะการสงคราม โรคภัยไข้เจ็บ และมีคนจำนวนมากที่ตายเพราะอดอยากลงทุกวันประมาณวันละ 100 คน จนกระทั่งเดือนมกราคม พ.ศ.2310 อันเป็นปีที่ 32 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง กลุ่มคนจีนได้ต่อสู้กับพม่าโดยช่วยกันสร้างกำแพงขึ้น ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พม่าได้พยายามทำลายกำแพงใหญ่ มีส่วนหนึ่งพังลงจึงเกิดต่อสู้กันขึ้นถึง 7 วัน 7 คืน ทหารพม่าประมาณ 3,000 คนถูกฆ่าตาย แต่ภายในเมืองไม่มีอาหาร และน้ำจึงไม่อาจจะต่อสู้ได้นาน ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ กำแพงก็ถูกทำลาย เดือนมีนาคม กษัตริย์ไทยคือสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ( หมาฟงหวัง ) ถูกพม่าจับได้ พระองค์ทรงขอที่จะถวายเครื่องราชบรรณาการแก่พม่า แต่แม่ทัพพม่าชื่อ เนเมียวสีหบดี (Thihapate) ไม่ยอมรับและจับพระองค์เป็นเชลย วันที่ 9 พฤษภาคม เมืองหลวงของไทยถูกทำลาย สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงลอบหนีไปยังเมือง โผวแซนถวน ( โพธิ์สามต้น ความตอนนี้ไม่ตรงกับพงศาวดารไทย ) และถูกปลงพระชนม์ ส่วนพระอนุชา ขุนหลวงหาวัด ข้าราชการและสตรีในวังถูกพม่ากวาดต้อนไป ตลอดจนของมีค่าทุกอย่างในพระคลัง พม่าก็ขนไปหมดด้วยเช่นกัน และวันที่ 25 พฤษภาคม กองทัพพม่าก็ยกทัพกลับไป แต่ให้แม่ทัพชื่อ ซุ่งยี่ ( สุกี้ = ชุกคยี ) อยู่ดูแลเมือง นับว่าอาณาจักรไทยที่จีนเรียกว่า ต้าเฉิน ก็สิ้นสุดลงด้วยการทำลายของพม่า อาณาจักรนี้เจริญอยู่ 417 ปี มีกษัตริย์ปกครอง 33 รัชกาล
หลังจากนั้นอาณาจักรไทยก็มีกษัตริย์พระองค์ใหม่เกิดขึ้นคือ เจิ้นเจ้า ( สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ) พระองค์ทรงตั้งราชวงศ์ใหม่เรียกว่าราชวงศ์ ถ่งอูดี่ ( ธนบุรี ) เมื่อปราบดาภิเษกทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 แต่จีนเรียกว่า เจิ้นเจ้า หมายถึงกษัตริย์แห่งเจิ้น
จากจดหมายเหตุไทยกล่าวว่า เจิ้นเจ้ามีนามเดิมว่า ชินหรือสิน แต่มีคนไทยคนหนึ่งชื่อ ไมอิ่นเซิ่น กับพ่อค้าชื่อ เฉิ่นอิ้ง เรียกจิ้นเจ้าว่า พระยาตาก พระยาตากนี้มีบิดาเป็นชาวกว่างตุ้ง ชาวเมืองเซิ่นหยง เมื่อมาอยู่เมืองไทยก็ได้แต่งงานกับสตรีไทยมีบุตรคือ เจิ้นเจ้า ซึ่งครั้งนั้นมีนามเดิมว่า เซิ่นชิ้น ชิน ( สิน ) ในภาษาไทยแปลว่า ทรัพย์สมบัติ ดังนั้นจีนจึงแปลออกมาว่า เจิ้นฉาย ( ฉาย แปลว่า สมบัติ ) ส่วน เจิ้นเจ้า เป็นนามที่ใช้เมื่อทรงส่งเครื่องราชบรรณาการไปจีนในสมัยราชวงศ์ชิง และทรงใช้เป็นทางการเมื่อทรงติดต่อกับจีน
มีหนังสือจีนชื่อ ซือสื่อเอ้อเหม๋จูซี่ ได้กล่าวถึงประวัติเจิ้นเจ้าไว้ว่า เจิ้นเจ้า มีบิดาชื่อ เซิ่นหยง หรือ เซิ่นย้ง มาจากเมืองเฉาโจ้วแถบ เฉินไห่หว่าหู้หลี หรือ เติ้งไห่ฝาฝู่ลี่ เนื่องจากเซิ่นย้งมีบิดาเป็นคนรวย ตนจึงไม่ค่อยสนใจที่จะทำมาหากิน ใช้จ่ายเงินมากและชอบเดินทางท่องเที่ยว คนในหมู่บ้านจึงเรียกว่า ไต๋ซิต๋า แปลว่า นักท่องเที่ยว |