15.1 ความสัมพันธ์กับต่างประเทศในสมัยกรุงธนบุรีเป็นเช่นไร ?
ในสมัยกรุงธนบุรี ความสัมพันธ์กับต่างประเทศมีอยู่ 2 ประการคือ ติดต่อเพราะทำสงครามต่อกัน และติดต่อเพราะการค้ากับประเทศที่ติดต่อด้วย ได้แก่

1. ความสัมพันธ์กับพม่า ตลอดสมัยกรุงธนบุรีนี้ไทยกับพม่ามีความสัมพันธ์ในลักษณะของความขัดแย้ง เพราะเป็นคู่สงครามกันตลอดเวลา รวมแล้วเกือบ 10 ครั้ง เช่น การรบกับพม่าที่บางกุ้ง สมุทรสงคราม พ.ศ.2310 พม่าตีเมืองสวรรคโลก พ.ศ.2313 ไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ 1 พ.ศ.2314 พม่าตีเมืองพิชัย ครั้งที่ 1 พ.ศ.2315 และ ครั้งที่ 2 พ.ศ.2316 ไทยตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 พ.ศ.2317 ไทยรบพม่าที่บางแก้ว ราชบุรี พ.ศ.2318 อะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ พ.ศ.2318 และพม่าตีเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.2319

2. ความสัมพันธ์กับเขมร ประเทศกัมพูชาเคยเป็นเมืองขึ้นของไทยมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนเสียกรุงแก่พม่าในปี พ.ศ.2310 กัมพูชาจึงเป็นอิสระ มาในสมัยกรุงธนบุรีกัมพูชาเกิดความขัดแย้งภายใน กัมพูชาเกิดแบ่งแยกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งยังคงสวามิภักดิ์ต่อไทย อีกฝ่ายหนึ่งก็ไปฝักใฝ่กับประเทศญวน ทำให้ไทยต้องยกทัพไปปราบเขมรหลายครั้ง

3. ความสัมพันธ์กับล้านนาไทย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพิจารณาเห็นว่า ทุก

ครั้งที่พม่ายกทัพมาตีไทย จะใช้ล้านนาเป็นฐานทัพและแหล่งสะสมเสบียงเสมอ จึงทรงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ และสามารถขับไล่พม่าออกไปได้สำเร็จในปีพ.ศ.2317 หลังจากนั้นล้านนาก็เป็นอิสระจากพม่า โดยมีกำลังจากกรุงธนบุรีขึ้นไปช่วยคุ้มครอง

4. ความสัมพันธ์กับหัวเมืองมลายู หัวเมืองมลายู ประกอบด้วย เมืองปัตตานี เมืองไทรบุรี เมืองกลันตัน เมืองตรังกานู ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของไทยมาตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา พอเสียกรุงศรีอยุธยา หัวเมืองเหล่านี้ก็แยกตัวเป็นอิสระ ซึ่งในตอนต้นสมัยกรุงธนบุรีนั้นเมืองปัตตานีและไทรบุรีก็ยังสวามิภักดิ์ต่อไทยอยู่ แต่ในช่วงปลายสมัยก็แยกตัวออกห่าง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปล่อยไป ด้วยเกินกำลังที่จะสามารถยกลงไปปราบได้