14.2.3 ความสัมพันธ์ด้านการค้ากับฮอลันดา
ในปีพุทธศักราช 2313 แขกเมืองตรังกานู และแขกเมืองยักตรา หรือยักกะตรา (จาการ์ตา ในเกาะชวา เมืองหลวงของประเทศอินนีเซียในปัจจุบัน) ได้นำปืนคาบศิลาเข้ามาถวาย 2,200 กระบอก

ปืนคาบศิลา หรือปืนยาว แบบคาบศิลา
(ภาพจากหนังสือการทหารของไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ในขณะที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกำลังจะเสด็จกรีธาทัพขึ้นไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง แสดงว่าฮอลันดาน่าจะเป็นชาวยุโรปอีกชาติหนึ่งที่ได้เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยเราในสมัยกรุงธนบุรี ด้วยในเวลานั้นฮอลันดามีอำนาจปกครองเกาะชวาอยู่ (มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม , 2543 : 88-92 ; เสทื้อน ศุภโสภณ, 2527 : 60 )

14.3.2 ความสัมพันธ์กับฝรั่งเศส
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีได้สำเร็จ บาทหลวงกอรร์ (Corre) ซึ่งเป็นอาจารย์ของกอลแลช เชเนรัล มาแต่เดิม แต่หนีการกวาดต้อนของพม่าได้สำเร็จ ก็ได้เข้าเฝ้ารายงานตัวพร้อมชาวคาทอลิกที่รอดตายประมาณ 400 คน ได้รับพระราชทานที่ดินสร้างโบสถ์ซางตาครู๊ส (Santa Cruz) เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2312 ชาวคาทอลิกจำนวนหนึ่งได้รับการคัดเลือกเข้ารับราชการ ท่านให้ความร่วมมือกับทางราชการอย่างดียิ่งจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ในปีพ.ศ.2316 บาทหลวงโจเซฟ หลุยส์ กูเด (Joseph Louis Coude) ถูกส่งมาใหม่จากกรุงปารีสทำหน้าที่แทน ตอนปลายรัชกาลมีเรื่องขัดพระทัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชหลายครั้ง เป็นเหตุให้ทรงกริ้ว จึงถูกเนรเทศไปอยู่ภูเก็ตจนสิ้นรัชกาล อาจกล่าวได้ว่า ไม่พบหลักฐานการค้าขายกับฝรั่งเศส ยกเว้นความสัมพันธ์ทางด้านศาสนา (กษัตริย์อัจฉริยะ , ทบวงมหาวิทยาลัย , 2539 : 509)