ดังนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้กัปตัน ฟรานซิส ไลท์เป็นผู้รับภาระในการติดต่อขอซื้ออาวุธให้แก่ทางราชการไทยในครั้งนั้น โดยโปรดให้มีหนังสือติดต่อไปเมื่อปี พ.ศ.2320 ซึ่งทางฟรานซิส ไลท์ก็ได้รับเป็นธุระจัดการให้เป็นอย่างดีพอสมควร

ดังปรากฏในจดหมายตอนหนึ่งที่ฟรานซิส ไลท์เขียนไปถึงนายยอร์ช สแตรตตัน ลงวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2320 กล่าวถึงพระราชประสงค์ของพระเจ้ากรุงธนบุรีในการซื้ออาวุธปืนในครั้งนั้นว่า “ ...พระเจ้าแผ่นดินสยาม ได้สดับว่าพม่ากำลังให้ความสนใจกับพวกฝรั่งเศสมาก ลำพังพม่าพวกเดียว แล้วพระองค์ไม่กลัว แต่ทรงวิตกว่าพวกพม่าจะเข้าร่วมกับพวกฝรั่งเศส ซึ่งมีอยู่มากในหงสาวดีและอังวะ จึงทรงเห็นภัยที่จะมีมาถึง ประเทศถึงแม้ว่าจะทรงได้ปืน 6,000 กระบอก ที่พวกฮอลันดาจากปัตตาเวีย ขายให้ในราคากระบอกละ 12 บาท แถมปีนี้จะได้อีก 1,000 กระบอกก็ตาม พระองค์ไม่ประสงค์จะเกี่ยวข้องกับพวกฮอลันดานัก พระเจ้าแผ่นดินสยามจึงได้ทรงขอร้องให้ข้าพเจ้าจัดหาอาวุธ ขนาดย่อมเป็นจำนวนมาก ถวายให้พระองค์ ให้มากที่สุดเท่าที่จะหาได้ ข้าพเจ้าได้ให้สัญญาไปว่าจะใช้ความอุตสาหะพยายามให้มากที่สุด จัดหาให้พระองค์ตามพระประสงค์ พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงบอกมาว่ากองทัพของพระองค์จะไปโจมตี เมืองมะริดในฤดูนี้... ” (อาณัติ อนันตภาค, 2546 : 143)

ปรากฏความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า เมื่อปีพ.ศ.2319 กัปตันไลท์ได้ส่งปืนเข้ามาถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นจำนวน 1,400 กระบอก รายละเอียดมีแจ้งอยู่ดังนี้

“ อนึ่ง ในเดือนสิบนั้น กะปิตันเหล็กอังกฤษเจ้าเมืองเกาะหมากส่งปืนนกสับเข้ามาถวายพันสี่ร้อยกระบอก กับสิ่งของเครื่องราชบรรณาการต่างๆ ”

นอกจากนี้ยังปรากฏเป็นหลักฐานว่า เจ้าพระยาพระคลังในสมัยกรุงธนบุรี ได้เคยมีหนังสือไปถึงชาวเดนมาร์ก ผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าเมืองตรังกาบาร์ อันเป็นเมืองท่าค้าขายอยู่ทางแถบอินเดียตอนใต้ ขอให้อำนวยความสะดวก ให้แก่ “ กปิตันเหล็ก ” ซึ่งได้รับมอบหมายให้ออกไปหาซื้ออาวุธปืนคาบศิลาจำนวน 10,000 กระบอก ณ เมืองตรังกาบาร์นั้นให้ด้วย ด้วยความดีความชอบที่กัปตันฟรานซิส ไลท์ ได้ช่วยเหลือราชการ ในการจัดหาซื้ออาวุธปืนมาถวายให้ เพื่อใช้ในการต่อสู้ข้าศึกศัตรูนี้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เขาเป็น พระยาราชกปิตัน เมื่อราว ปี พ.ศ.2321