 |
4.ทรงต้องการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ให้ครบถ้วนตามโบราณราชนิยม กล่าวคือพระเจ้าแผ่นดินต้องส่งเสริมการ อักษรศาสตร์ ด้วย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้แสดงถึงน้ำพระทัย มุ่งมั่นที่จะทรงทำพระราชกรณียกิจด้านนี้ให้ดีที่สุด ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคและ สภาพการณ์แวดล้อมทั้งปวง ผลงานด้านวรรณคดีในสมัยของพระองค์แม้จะไม่ดีเด่นเท่าเทียมสมัยที่รุ่งเรือง แต่ก็ได้แสดงให้เห็นพระปรีชาสามารถอย่างยอดเยี่ยมยากที่จะพึงทำได้ในสถานการณ์เช่นนั้น
5. อาจทรงหวังให้วรรณกรรมเป็นเครื่องนำให้เกิดความคิด ความรักใคร่สามัคคี ความรักชาติและความเสียสละ ทรงแต่งรามเกียรติ์ตอนพระมงกุฎ เป็นตอนที่บ้านเมืองพระรามยุ่งยากเพราะเกิดความหลงผิดกันขึ้นและเมื่อทุกคนเข้าใจกันได้ ก็เกิดความสงบสุขทั่วกัน รามเกียรติ์ตอนหนุมานเกี้ยวนางวานรินทร์จนถึงส่งนางไปเมืองฟ้า และตอนท้าวมาลีวราชว่าความ ล้วนเป็นตอนที่แสดงคติธรรมที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์บ้านเมืองทั้งสิ้น
จะเห็นได้ชัดว่าการฟื้นฟูส่งเสริมวรรณกรรมสมัยธนบุรี นอกจากจะทำเพื่อเชิดชูและรักษาศิลปะการประพันธ์ตามปกติแล้ว ยังเกี่ยวเนื่องกับความจำเป็นในการบริหารบ้านเมืองและความผาสุกของประชาชนด้วย (สมพันธุ์ เลขะพันธุ์ , 2530 : 22-23)
สรุปลักษณะเฉพาะของศิลปวัฒนธรรมสมัยธนบุรี
สมัยธนบุรีมีช่วงเวลาสั้นเพียง 15 ปี ลักษณะเฉพาะของศิลปวัฒนธรรมจึงไม่ปรากฏเด่นชัดนัก พอสรุปได้ดังนี้
1. ศิลปกรรมเกือบทั้งหมดได้รับอิทธิพลจากความเจริญของกรุงศรีอยุธยา ทั้งในด้านสถาปัตยกรรม จิตรกรรม นาฏกรรมและวรรณกรรม
2. ศิลปกรรมสมัยธนบุรี มักเป็นศิลปะที่ไม่วิจิตรพิสดาร มีลักษณะพื้นๆ ง่ายๆ สังเกตได้จากการก่อสร้างอาคารสถานที่สำคัญๆ เช่น พระราชวังและวัดวาอาราม ทั้งนี้คงเป็นเพราะสถานะทางเศรษฐกิจของบ้านเมืองกำลังตกต่ำอย่างมากนั่นเอง ทางด้านวรรณคดีก็เช่นกันมีแต่วรรณกรรมเรื่องสั้นๆ วรรณกรรมที่เป็นเรื่องยาวมาก่อน เช่น รามเกียรติ์ อิเหนา ก็ตัดทอนมาแต่งเป็นตอนสั้นๆ เท่านั้น แม้ว่าสมัยธนบุรีจะไม่มีศิลปกรรมที่เด่นพิเศษเป็นแบบอย่างได้ แต่ก็มีลักษณะที่ดำรงรักษาความเจริญรุ่งเรืองในยุคก่อนให้คงอยู่ และเป็นพื้นฐานสำคัญในการส่งเสริมฟื้นฟูในสมัยต่อมา (สมพันธุ์ เลขะพันธุ์ , 2530 : 33-34) |
|
|