งานสมโภชเหล่านี้ สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดให้ชนทุกเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงธนบุรี ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทุกขั้นตอนตั้งแต่การเตรียมงาน การแสดงอื่นๆ ทำให้คนทุกฝ่ายได้สมัครสมานสามัคคีกัน ได้ฟื้นฟูจิตใจของประชาชนให้คลายความทุกข์บ้าง อีกทั้งยังเป็นการสืบสานวัฒนธรรมไทยมิให้สูญหายไปอีกด้วย (เกื้อกูล ยืนยงอนันต์, 2546 : 188-194)

สรุปพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่เกี่ยวกับ การทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมในครั้งนั้นอาจประมวลได้ดังนี้

1. ทรงมีความสนพระทัยกว้าง ทรงเห็นความสำคัญของศิลปะวิทยาการทุก ๆ ด้าน และทรงขยันขันแข็งในพระราชกรณียกิจไม่ทรงปล่อยเวลาให้เสียไปด้วยการแสวงหาความสุขส่วนพระองค์ แม้จะทรงมีเวลาว่างเพียงเล็กน้อยจากการศึกสงคราม และการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ก็ทรงใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ในการทำนุบำรุงศิลปะวิทยาการมากที่สุด

2. ทรงต้องการเก็บรวบรวบวรรณกรรมเก่า อันเป็นของดีของหวงในสมัยอยุธยาให้คงไว้ การที่จะเก็บรวบรวมวรรณกรรมของเก่าที่เหลือรอดจากการถูกไฟเผาแต่อย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ จำเป็นต้องแสวงหานำมาปะติดปะต่อทั้งจากต้นฉบับและจากความทรงจำ ต้นฉบับวรรณกรรมอาจต้องสืบหาตามบ้านเรือนราษฎร วัด และหัวเมืองต่าง ๆ ที่ได้คัดลอกกันไป งานรวบรวมดังกล่าวคงจะเป็นงานที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงโปรดให้ดำเนินการอย่างรีบเร่งเป็นพิเศษ เพราะหากปล่อยให้เนิ่นนานไป วรรณกรรมต่าง ๆ ย่อมเสื่อมสลายไปได้

3. ทรงเห็นความจำเป็นในการบำรุงขวัญของประชาชน บ้านเมืองภายหลังพ่ายแพ้สงครามยับเยิน ไพร่บ้านพลเมืองย่อมเสียขวัญเป็นอย่างมาก หมดกำลังใจที่จะปฏิบัติภารกิจการงานของตน แม้พระเจ้าแผ่นดินได้กอบกู้อิสรภาพคืนมาจนสร้างบ้านเมืองใหม่แล้วก็ตาม แต่สภาพจิตใจของพลเมืองย่อมกลับคืนคงเดิมได้ยากและช้านานกว่าการสร้างสรรค์สภาพทางวัตถุ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตระหนักในเรื่องนี้ จึงทรงถือเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญ ในการบำรุงขวัญราษฎรด้วยการส่งเสริม ศิลปะ วรรณกรรม ซึ่งเป็นเครื่องบันเทิงใจของประชาชน นอกจากจะทรงโปรดให้มีการแต่งบทวรรณกรรมแล้ว ยังโปรดให้ ฟื้นฟูการละคร ขึ้นอีก ทรงนำละครซึ่งเจริญรุ่งเรืองของเมืองนครศรีธรรมราชเข้าฝึกหัดชาววัง และยังโปรดให้ฟื้นฟูละครของหลวงตามแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นอีกด้วย การแต่งวรรณกรรมและการฟื้นฟูส่งเสริมการละครเป็นกุศโลบายอันแยบคายในการบำรุงขวัญประชาชน