 |
ละครผู้ชายนั้น เข้าใจว่าจะเล่นอย่าง ละครนอก " ซึ่งยึดตลกโปกฮาเป็นใหญ่ ด้วยตัวแสดงเป็นผู้ชายล้วนๆ การที่จะมีลีลาร่ายรำงดงามอ่อนช้อยอย่าง " ละครใน " นั้นย่อมจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
การแสดงละครครั้งสำคัญที่สุดในสมัยกรุงธนบุรี มีการเล่นประชันกันหลายคณะหลายโรงทั้งของหลวง ของเจ้านคร และของเอกชน ทั้งละครผู้หญิง - ละครผู้ชาย มีมหรสพนานาชนิดเล่นเรียงรายไปทั้งสองฟากฝั่งลำน้ำเจ้าพระยา รวมหลายสิบโรงด้วยกัน ก็คือเมื่อคราวงานต้อนรับและ สมโภชพระแก้วมรกต เมื่อปลายปี พ.ศ.2322 ต่อกับต้นปี พ.ศ.2323
จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี กล่าวถึงการแสดงละครครั้งนั้นว่า
พลับพลาเสด็จอยู่กลาง ละครผู้หญิงละครผู้ชายอยู่คนละข้าง เงินโรงผู้หญิง 10 ชั่งเงินโรงผู้ชาย 5 ชั่ง มี 7 วัน
ฯลฯ
ให้มีละครผู้หญิงประชันกับละครเจ้านครวัน 1 โรงละ 5 ชั่ง ละครหลวงแบ่งออกประชันกันเองโรงละ 5 ชั่ง มีอีก 3 วัน
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชวิจารณ์เหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า
" พลับพลานั้นเห็นจะเป็นพลับพลายาวปลูกขึ้นใหม่ ทอดพระเนตรได้ทั้ง 2 ด้าน "
แสดงว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในครั้งนั้น ได้ตั้งพระทัยทอดพระเนตรการแสดงของละครอย่างจริงจัง ตลอด 7 วัน 7 คืนที่มีละครหลวงเล่นประชันกัน
นับเป็นงานสนุกสนานมโหฬารที่สุดของคนไทยในครั้งนั้น นับตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยามาได้ 12 ปีเต็มพอดี
นาฏศิลป์และการละเล่นสมัยกรุงธนบุรี เท่าที่ปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุ สมโภชพระแก้วมรกต พ.ศ.2323 คือ โขน หนัง หุ่น ละคร รำ ( รำหญิง , รามัญรำ , ชวารำ , ญวนรำถือโคมดอกบัว ) มโหรี ปี่พาทย์ ระเม็ง โมงครุ่ม ญวนหก และคนต่อเท้าโจนหกรับหอก หกไม้ลำเดียว หกไม้สูง 3 ต่อ ไต่ลวดลังกาไม้ลอดต่ำ ดุลาเล็ก มังกรตีวิสัย ( แทงวิสัย ) โตกระบือหรือโตกระบือ จีนเงาะ มวย คู่ปล้ำ เสลหรือดาบดั้ง คู่ง้าว คู่ทวน คู่หอก คู่กฤช ชนช้าง แข่งม้า ทวนหลังม้า กระบี่หลังม้า และม้าคลุมม้าคลี |
|
|