คุณค่า

1. คุณค่าทางอักษรศาสตร์ ใช้ถ้อยคำง่าย สำนวนราบเรียบ กระบวนพรรณนาละเอียดลออ มีความไพเราะไม่น้อยทีเดียว แม้ไม่เทียมเท่านิราศของสุนทรภู่ก็ตาม
2. คุณค่าทางประวัติศาสตร์ ช่วยบันทึกเหตุการณ์ในการเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนและแบบธรรมเนียมการทูต นับเป็นวรรณกรรมเรื่องแรกที่มีฉากของต่างประเทศ
3. คุณค่าทางสังคม ได้ทราบถึงสภาพบ้านเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีน และประเพณีปฏิบัติของชาวเรือ (อุทัย ไชยานนท์ , 2545:79)

13.2.6 กฤษณาสอนน้อง เป็นวรรณกรรมลักษณะใด ? ผู้ใดแต่ง ?

ผู้แต่งมี 2 ท่าน คือ พระยาราชสุภาวดี และพระภิกษุอิน (หรืออินทร์) ไม่ปรากฏประวัติกวีทั้งสองท่านนี้ เพียงแต่ทราบตามที่บอกไว้ท้ายเรื่องนี้ว่า

พระยาราชสุภาวดี เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าตากสินมหาราชให้ไปช่วยราชการที่เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อเจ้านราสุริยวงศ์พระเจ้าหลานเธอ ที่พระเจ้าตากสินมหาราชทรงส่งไปครองเมืองนครศรีธรรมราชถึงแก่พิราลัย พระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสุภาวดีไปเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชแทน ภายหลังมีรับสั่งย้ายมาประจำอยู่ที่กรุงธนบุรี

พระภิกษุอิน เป็นพระภิกษุชาวเมืองนครศรีธรรมราช จำพรรษาอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช แต่ไม่ทราบว่าเป็นวัดอะไร เป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในทางกวีที่หาตัวจับยากท่านหนึ่งในสมัยนั้น (อุทัย ไชยานนท์ , 2545:24)

ทั้ง 2 ท่านร่วมกันแต่งกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ โดยพระยาราชสุภาวดีแต่งตอนต้นและพระภิกษุอินได้รับอาราธนาให้ช่วยแต่งเติมต่อจนจบบริบูรณ์ และกล่าวด้วยว่าเรื่องนี้เคยมีฉบับเดิมแต่สูญหายไปเสียแล้ว