คุณค่า

1. คุณค่าทางอักษรศาสตร์ ลิลิตเพชรมงกุฎเป็นวรรณกรรมที่มีอายุยาวนานถึงสองร้อยกว่าปี เป็นกวีนิพนธ์ที่มีความงดงามไม่น้อย ใช้ถ้อยคำสำนวนนิ่มนวลเรียบง่าย มีท่วงทำนองคล้ายลิลิตพระลอ แต่ก็มีลักษณะเป็นของตนเองด้วย
2. คุณค่าทางคติธรรมคำสอน ได้แสดงให้เห็นความรักระหว่างพ่อแม่ลูกที่มีต่อกัน ซึ่งแสดงลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวตามแบบอย่างไทย ๆ ได้เป็นอย่างดี ( อุทัย ไชยานนท์ , 2545:61)

2. อิเหนาคำฉันท์ แต่งเมื่อ พ.ศ. 2322 โดยเนื้อเรื่องแต่งตามความของละครเรื่องอิเหนา ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้ามงกุฎ (สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย) ลักษณะคำประพันธ์แต่งเป็นฉันท์ปนกาพย์ เริ่มเรื่องตั้งแต่อิเหนาวางอุบายลอบเผาเมืองดาหา แล้วแย่งตัวบุษบาไปหลบซ่อนอยู่ในถ้ำ จรกาติดตามไปพบอิเหนา อิเหนาแกล้งกลบเกลื่อนจนจรกาหลงเชื่อว่าอิเหนามิได้ลักพาไป

เข้าใจว่าเจ้าพระยาคลัง (หน) แต่งเรื่องนี้โดยไม่มีความมุ่งหมายใดเป็นพิเศษ นอกจากแต่งตามวิสัยของกวีที่พอใจจะแสดงออกทางอารมณ์ และคงต้องการแสดงฝีปากทางฉันท์ด้วย ผลงานของท่านเท่าที่ปรากฏอยู่ มีแต่เรื่องนี้เท่านั้นที่แต่งเป็นฉันท์

ลักษณะทั่วไปของอิเหนาคำฉันท์

1. คำฉันท์มีลักษณะเป็นสำนวนของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) อย่างชัดเจนเทียบได้กับสำนวนกลอนของท่าน คือสัมผัสอักษรแพรวพราวอยู่ทั่วไป เช่น

“ สอดชงฆสอดชา         ณ สองกรสอดกร
สองโอษฐเอมอร           ตฤบรสรสาสรรพ์
พร่างพักตรพรายเนตร   บยลเดือนตะวันจันทร์
พยุโพยมครร                ชิตวิชุลดาพราย ”