 |
13.2.2 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมอะไรบ้าง ?
พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงเป็นนักรบ นักกู้ชาติมากกว่าจะทรงเป็นกวี เพราะตลอดรัชกาลของพระองค์เต็มไปด้วยการศึกสงคราม แต่พระองค์ทรงเป็นนักปกครองที่เห็นการณ์ไกล ทรงเห็นคุณค่าของวรรณคดี จึงทรงใช้เวลาว่างพระราชนิพนธ์วรรณคดีสำคัญคือ เรื่อง รามเกียรติ์ ขึ้น บทพระราชนิพนธ์ที่เหลือปรากฏหลักฐานในปัจจุบัน คือ บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ ตอนหนุมานเข้าห้องนางวานรินทร์ วิรุณจำบังล้ม ท้าวมาลีวราชว่าความ ทศกัณฐ์ตั้งพิธีเผารูปเทวดา พุ่งหอกกบิลพัสดุ์ หนุมานผูกผมทศกัณฐ์กับนางมณโฑและปล่อยม้าอุปการ นอกจากนี้ยังมี หนังสือราชการ ในรัชกาลที่ทรงแก้ไขหรือพระราชนิพนธ์ เช่น พระราชสาส์น ศุภอักษร สารตรา กฎต่างๆ ตำรับพิชัยสงคราม ตำราทำอาวุธ บทสุภาษิต ขนบราชการ ขนบประเพณีเมือง เป็นต้น
พระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ ทรงเขียนลงสมุดไทยดำ ตัวอักษรเป็นเส้นทอง สร้างขึ้นด้วยความประณีตบรรจงเป็นอย่างยิ่ง ตามบานแผนกบทพระราชนิพนธ์นี้ บอกเวลาที่ทรงพระนิพนธ์ไว้หน้าต้นทุกเล่มว่า วันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้นค่ำหนึ่ง จุลศักราช 1132 ปีขาล โทศก ซึ่งตรงกับ พ.ศ.2313 อันเป็นปีที่ 3 ในรัชกาลของพระองค์ แล้วต่อมาในภายหลังพวกอาลักษณ์นำเอาต้นพระราชหัตถเลขามาชุบลงไว้ตามที่ทรงแก้ไขใหม่ แต่ยังคงบานแผนกเดิมไว้ จึงปรากฏเป็น ทราม ภอดี อยู่ ดังปรากฏในต้นฉบับสมุดไทยที่คัดมา โดยบอกเวลาชุบเส้นทองไว้ว่า (วันอาทิตย์ แรม 8 ค่ำ เดือน 12 จุลศักราช 1142 (พ.ศ.2323) เป็นตอนปลายรัชกาล บอกนามอาลักษณ์ ผู้ชุบไว้ 4 คนคือ นายถี อาลักษณ์ชุบเล่ม 1, นายสัง อาลักษณ์ชุบ เล่ม 2, นายสน อาลักษณ์ชุบเล่ม 3 และนายบุญจัน อาลักษณ์ชุบเล่ม 4 บอกชื่อผู้ทานไว้ 2 คน ตรงกันทุกเล่ม คือขุนสารประเสริด และขุนมหาสิทธิ น่าเสียดายที่ไม่พบฉบับทรงเดิม (อุทัย ไชยานนท์ , 2545 : 15) |
|
|