 |
13.4 ด้านวรรณกรรม
ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ภายหลังรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเป็นต้นมา วรรณคดีที่เคยรุ่งเรืองก็กลับซบเซาเหงาเงียบไปอีกวาระหนึ่ง และหลังจากที่ต้องเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าในปี พ.ศ.2310 กรุงศรีอยุธยาพินาศย่อยยับ เมืองถูกเผาทำลาย ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่หนังสือเก่าๆ ก็ถูกทำลายเสียหาย ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงรวบรวมความเป็นปึกแผ่นของชาติขึ้นได้ใหม่ วรรณคดีจึงเริ่มมีชีวิตขึ้น แต่ยุคกรุงธนบุรีมีเวลาเพียง 15 ปี และเป็นเวลาเริ่มสร้างทุกอย่าง วรรณคดีจึงมีอยู่น้อย แต่ที่ยังพอมีปรากฏอยู่ก็ล้วนแล้วแต่มีคุณค่าแทบทั้งสิ้น
มีคำกล่าวที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่ายามที่บ้านเมืองสงบสุข วรรณกรรมย่อมเจริญรุ่งเรืองและในทางตรงข้าม คราวบ้านเมืองยุ่งยากมีศึกสงคราม วงการประพันธ์ก็ย่อมเศร้าหมอง ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองมีเหตุการณ์ยุ่งยากด้วยประการทั้งปวง ดังกล่าวข้างต้น แต่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็มิได้ทรงปล่อยให้วรรณกรรมพลอยเศร้าหมองไปตามสภาพที่น่าจะเป็น ทรงเป็นผู้ต่อต้านความเสื่อมโทรมนั้นอย่างเต็มที่ จนทำให้สมัยกรุงธนบุรีเป็นยุคที่มีการสร้างสรรค์วรรณคดีได้อย่างไม่น่าเชื่อ
วรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรีได้รับอิทธิพลมาจากสมัยอยุธยาโดยตรง โดยใช้วรรณคดีต่างๆ ที่มีอยู่เป็นแบบฉบับในการแต่งคำประพันธ์ ดังนั้นวรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรีจึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับวรรณกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยามาก ลักษณะวรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรีมีลักษณะดังต่อไปนี้
1. วรรณกรรมทุกเรื่องแต่งด้วยบทร้อยกรองทั้งหมด โดยใช้คำประพันธ์ทุกประเภท คือโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย
2. มีเนื้อหาสาระเน้นหนักในทางศาสนา คติธรรมคำสอน ยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์ และความบันเทิงเริงใจ
3. ลักษณะการแต่ง ขึ้นต้นคำประพันธ์ด้วยบทประณามหรือบทไหว้เพื่อแสดงความนอบน้อมต่อสิ่งที่เคารพนับถือ มีการบรรยายและพรรณนาอารมณ์ความรู้สึก บทชมสิ่งต่างๆ ที่มุ่งเน้นความไพเราะเป็นสำคัญ มากกว่าเนื้อหาสาระและแนวความคิด
4. สอดแทรกค่านิยมไทยไว้อย่างชัดเจน อันได้แก่ความเคารพนับถือ ความจงรักภักดีในพระมหากษัตริย์ ความถือมั่นในพระพุทธศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย (อุทัย ไชยานนท์ , 2545 : 8-9) |
|
|