ส่วนด้านหน้าทางทิศใต้ของวัด มีพระอุโบสถเดิม และพระวิหารน้อยตั้งอยู่ สถานที่ทั้ง 2 แห่ง ก็มีสิ่งที่น่าสนใจเช่นกันคือ ในพระอุโบสถเดิมมีพระแท่นที่ประทับของพระเจ้าตากสินมหาราชพระแท่นหนึ่งสร้างด้วยไม้กระดานแผ่นเดียว ขนาดกว้าง 1.67 เมตร ส่วนที่พระวิหารน้อยประดิษฐานพระธาตุจุฬามณี

นอกจากนี้ยังโบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชปรารภที่จะสถาปนาพระปรางค์เดิม ซึ่งสูงเพียง 16 เมตร หรือ 8 วา ให้งดงาม และสูงยิ่งขึ้น แต่เมื่อโปรดให้กำหนดลงมือขุดรากแล้ว พระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ดำเนินการสถาปนาองค์พระปรางค์ต่อเติมอีกจนสำเร็จ ถึงยกยอดมงกุฎลำภุขันธ์ แต่ยังหาทันได้ทำการฉลองไม่ก็เสด็จสวรรคต องค์พระปรางค์ซึ่งก่อสร้างขึ้นสำเร็จเป็นครั้งแรกนี้ ตามหลักฐานระบุว่า เป็นงานออกแบบของพระยาราชสงคราม (ทัต หงสกุล) นายช่างผู้สืบเชื้อสายสกุลช่างมาแต่กรุงศรีอยุธยา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงสถาปนาองค์พระปรางค์ต่อเติมจนเสร็จบริบูรณ์ การต่อเติมในระยะหลังตลอดจนการประดับกระเบื้องสีองค์พระปรางค์นี้เป็นงานที่พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) ผู้เป็นบุตรของพระยาราชสงคราม (ทัต) ได้กระทำต่อมาจนแล้วเสร็จ ด้วยเหตุที่พระปรางค์องค์นี้ได้รับการสถาปนาสร้างมาถึง 3 รัชกาล ฐานและทรงขององค์พระปรางค์จึงได้รับการเสริมสร้างต่อเติม บูรณะปฏิสังขรณ์ตลอดมาจนกร ะทั่งรัชกาลปัจจุบัน (ณัฎฐภัทร นาวิกชีวิน, 2519 : 57-58)

2. วัดอินทาราม หรือวัดบางยี่เรือนอก

เป็นวัดที่พระเจ้าตากสินมหาราช ทรงประกอบพระราชกุศล มีโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้อง กับพระองค์หลายอย่างเช่น พระแท่นบรรทมไสยาสน์ เป็นพระราชอาสน์ที่พระองค์ทรงประทับแรมทรงศีล และทรงเจริญกรรมฐาน

นอกจานี้ยังเป็นที่ประดิษฐาน (ฝัง) พระบรมศพของพระเจ้ากรุงธนบุรี และได้ถวายพระเพลิง ทั้งบรรจุพระบรมอัฐิไว้ ณ วัดนี้เช่นเดียวกัน

ปัจจุบันวัดอินทาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ถนนเทอดไท ตำบลบางยี่เรือ อำเภอธนบุรี กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ (ปัจจุบัน) ประมาณ 25 ไร่ วัดนี้ไม่ปรากฏว่าผู้ใดสร้างและสร้างในสมัยของใคร แต่ส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา