13.3 งานสถาปัตยกรรม

งานสถาปัตยกรรมในสมัยกรุงธนบุรีเป็นงานก่อสร้างอะไร ?
ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นยุคของการสร้างบ้านแปลงเมือง จึงมีการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก อาทิ พระราชวัง ป้อมปราการ กำแพงพระนคร พระอาราม ต่างๆ ลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยนี้ ล้วนสืบทอดมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ฐานอาคารจะมีลักษณะอ่อนโค้งดุจรูปเรือสำเภา ทรงอาคารจะสอบชลูดขึ้นทางเบื้องบน ส่วนประกอบอื่นๆ ของอาคารก็ไม่แตกต่างจากอยุธยามากนัก เป็นที่น่าเสียดายว่าสถาปัตยกรรมสมัยธนบุรีมักได้รับการบูรณะ ซ่อมแซมในสมัยหลังหลายครั้งด้วยกัน ลักษณะในปัจจุบันจึงเป็นแบบสถาปัตยกรรมในรัชกาลที่บูรณะครั้งหลังสุด เท่าที่ยังปรากฏเค้าเดิมในปัจจุบัน ได้แก่ ป้อมวิชัยประสิทธิ์ กำแพงพระราชวังเดิม พระตำหนักท้องพระโรงและพระตำหนักเก๋งคู่ในพระราชวังเดิม พระอารามทั้งในพระนครและหัวเมืองที่ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในรัชกาลนี้ ล้วนแต่ได้รับการบูรณะใหม่ในรัชกาลต่อมาเช่นกัน ที่ยังแสดงลักษณะศิลปกรรมสมัยกรุงธนบุรีได้แก่ พระอุโบสถและพระวิหารน้อย วัดอรุณราชวราราม พระอุโบสถและพระวิหารเดิมวัดราชคฤห์ พระอุโบสถเดิมวัดอินทาราม ตำหนักแดงวัดระฆังโฆสิตาราม และพระอุโบสถวัดหงส์รัตนาราม

หมายเหตุ
1. วัดอรุณราชวราราม ตั้งอยู่ทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา และฟากตะวันออกของถนนอรุณอมรินทร์ ตั้งอยู่ปากคลองมอญ ตรงข้ามตลาดท่าเตียน วัดนี้เป็นวัดที่สวยงามมากวัดหนึ่ง แสดงฝีมือการช่างศิลปของไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นอย่างดี

ประวัติความเป็นมาของวัด
วัดอรุณราชวราราม เดิมเป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมเรียกวัดมะกอก ภายหลังเปลี่ยนเป็น วัดมะกอกนอก ต่อมาเปลี่ยนเป็นวัดแจ้ง และได้รับสถาปนาเป็นพระราอารามหลวงชั้นเอกสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ด้วยเหตุที่ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พระเจ้าตากสินมหาราช ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระยาตากได้ตีฝ่ากองทัพพม่าออกมา ได้ล่องเรือมาจนสว่างขึ้นที่หน้าวัดแห่งหนึ่งในเมืองธนบุรี จึงตั้งชื่อว่า วัดแจ้ง และได้ตั้งมั่นอยู่ที่เมืองนี้ เมื่อทรงกู้อิสรภาพได้ใน พ.ศ.2311 ก็ทรงตั้งกรุงธนบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวง โดยทรงกำหนดเอากำแพงป้อมวิชัยประสิทธิ์ข้างฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่ตั้งตัวพระราชวัง แล้วโปรด “ ...ให้ขยายเขตกั้นเป็นพระราชวังถึงคลองนครบาล (คลองวัดแจ้ง)