13.3.4 เครื่องปั้นดินเผาในสมัยกรุงธนบุรี (ซึ่งตรงกับช่วง พ.ศ.2311- 2325)

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ขึ้นครองราชย์ที่กรุงธนบุรี จึงเริ่มขยายการค้าขายกับจีน ระยะนั้นไทยยังคงสั่งซื้อเครื่องถ้วยชามจากจีนเข้ามาใช้ ส่วนใหญ่เป็นชามเบญจรงค์ลายเทพนม ลายนรสิงห์ ข้างในเคลือบสีขาว ไม่เคลือบเขียวเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา

เครื่องเบญจรงค์
(ภาพจากหนังสือสมเด็จพระเจ้าตากสิน จอมบดินทร์มหาราช)
เครื่องถ้วยเบญจรงค์

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา หลังจากเสียกรุง ครั้งที่ 2 ใน พ.ศ.2310 แล้ว เครื่องปั้นดินเผาของจีนที่มีการเขียนสีทับน้ำเคลือบโดยใช้แม่สี 5 สี สีขาว ดำ แดง เหลือง และเขียวหรือน้ำเงิน ที่เรียกว่าเครื่องเบญจรงค์ เข้ามามีบทบาทในไทย

เครื่องเบญจรงค์เป็นเครื่องปั้นดินเผาชนิดเขียนลวดลาย บนเคลือบที่ราชสำนักสยามสั่งทำจากจีน เป็นสินค้าที่ผลิตให้กับไทยโดยเฉพาะ ลวดลายที่เขียนบนเบญจรงค์เขียนเป็นลายไทย ตามที่ราชสำนักไทยส่งแบบไปให้จีนเขียน ต่อมาเครื่องเบญจรงค์ก็กลายเป็นที่นิยมกว้างขวาง ในบรรดาผู้มีบรรดาศักดิ์ของไทย

เครื่องเบญจรงค์จะมีการเขียนลายเต็มหมดไม่เว้นที่ว่าง ในสมัยอยุธยานิยมลายเทพนม นรสิงห์ มีลายกนกเปลวประกอบ ภายในชามจะเคลือบเขียว ต่อมามักจะเขียนเป็นลายราชสีห์ ครุฑ สิงห์ นรสิงห์ กินรี หนุมาน ประกอบลายกนกเปลว และก้านขด เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีเครื่องปั้นเบญจรงค์ที่เขียนลายเทพนม ลายดอกไม้ ใบไม้ที่พระอาจารย์แดง วัดหงส์รัตนารามออกแบบเขียนลายส่งไปทำกระเบื้องเคลือบที่เมืองจีน เพื่อนำไปใช้ตกแต่งวัดราชบพิตรสถิตมหาสีมารามด้วย ( ผุสดี ทัพทัส , สารานุกรมวัฒนธรรมไทย - ภาคกลาง เล่ม 3, ค้างคาวกินกล้วย , เพลง - จิตรกรรมกระบวนจีน , 2542 : 1131, 1141)