2. สตรีสามัญ นุ่งโจงนิยมสีดำสีเขียวตะพุ่น ห่มผ้าสะไบเฉียง ห่มเหน็บ เครื่อง ประดับมีกำไล จี้ สร้อย แหวน เข็มขัด ทรงผม ทำผมปีกตัดสั้น แต่ยังมีหลักฐานบางแห่งแสดงให้เห็นว่ายังมีการทำปีกประบ่ากันอยู่บ้าง (หนังสือสมเด็จพระเจ้าตากสิน จอมบดินทร์มหาราช , ม.ป.ป. : 135-138 และ สยามอารยะ 1(4) : 1 ตุลาคม 2545 : 87-88 โดย อภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล และมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม , 2543 : 116-120)

หมายเหตุ สมัยอยุธยาตอนปลาย ปรากฏว่าทรงผมสตรีในยุคนี้มี 4 ทรงคือ
ก ทรงผมมวยกลางศีรษะ
ข ทรงผมปีก
ค ทรงหนุนหยิกรักแครง
ง ทรงผมประบ่า

... สตรีมักจะไว้ทรงผมปีกและผมประบ่าอยู่ในทรงผมเดียวกันคือ ตอนบนของศีรษะจะหวีเป็นผมปีก แล้วปล่อยให้สยายยาวลงมาประบ่าทั้งสองข้าง นอกจากนี้ ผมปีกนั้นยังรวมอยู่ในทรงเดียวกับผมมวยอีกด้วย

เทริด
(ภาพจากหนังสือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช)

อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า ทรงผมปีกนั้นอาจจะสวมศิราภรณ์ทับลงบนศีรษะด้วย เช่น เทริด หรือมงกุฎ

การไว้ผมปีกประบ่าของสตรีนั้น สันนิษฐานว่าคงเริ่มจากราชสำนักแล้วแพร่หลายมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเสียกรุงฯ จึงได้ตัดผมสั้นเหลือเพียงผมปีก เพื่อสะดวกต่อการสู้รบและการปลอมเป็นชาย ซึ่งคงไม่คำนึงถึงความสวยงามกันแล้ว เพราะยิ่งทำให้เหมือนบุรุษเท่าไหร่ก็จะปลอดภัยยิ่งขึ้น สำหรับสตรี ซึ่งผมปีกในสมัยหลังนั้น เป็นผมตัดสั้นกลางกระหม่อมเป็นวงตามไรผมจับปีก และโกนส่วนที่เหลือทิ้ง แต่ไว้เป็นรากไทร การไว้ผมปีกอย่างเดียวนั้นพบอยู่บ้างเช่น ในรูปขบวนเสด็จของพระเวสสันดร ซึ่งสันนิษฐานว่า ได้วาดขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย