“ การที่บาทหลวงได้กราบทูลต่อพระเจ้าแผ่นดินเช่นนี้ เป็นอันเชื่อได้แน่ว่าตั้งแต่เกิดมา ก็คงไม่มีใครได้เคยได้ยินได้ฟังดังนี้เลย บรรดาขุนนางข้าราชการที่เฝ้าอยู่ในที่นั้น ต่างคนประหลาดใจที่ได้เห็นบาทหลวงสอนศาสนาแก่พระเจ้าแผ่นดินในเวลาเสด็จออกขุนนาง ทั้งอัศจรรย์ใจที่ได้เห็นพระเจ้าแผ่นดินโปรดฟัง และรับสั่งโต้ตอบกับบาทหลวงดังนี้ แล้วพระเจ้าตากสินจึงหันพระองค์ไปทางที่พระสงฆ์เฝ้าอยู่ จึงรับสั่งว่าตั้งแต่นี้ต่อไป เมื่อใครบวชแล้วจะสึกไม่ได้ และจะมีเมียไม่ได้เป็นอันขาด และเพราะเหตุว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นหัวหน้าของพระพุทธศาสนา จึงได้มีรับสั่งให้พระสงฆ์เรียนภาษาบาลีต่อไป เพราะภาษาบาลีเป็นภาษาที่พระสงฆ์ต้องใช้ ตรงกับของเราต้องใช้ภาษาลาตินเหมือนกัน เพื่อพระสงฆ์จะได้อ่านหนังสือเข้าใจด้วยตนเองได้ และได้รับสั่งว่านิทานต่างๆ ที่เคยเล่ากันมา ให้ตัดออกเสียบ้าง เพราะนิทานเหล่านี้ล้วนแต่ไม่จริงทั้งนั้น... ” (เสทื้อน ศุภโสภณ, 2527 : 70-71)

12.2 พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา
ความเป็นมาของการศึกษาไทย
การศึกษาของประเทศไทย มิใช่เพียงจะเริ่มขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หากได้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย สันนิษฐานได้จากการคิดตัวอักษรไทยที่เรียกว่า “ ลายสือไทย ” ขึ้น ลักษณะการศึกษาและโรงเรียนในสมัยกรุงสุโขทัยนั้น พอจะสันนิษฐานได้ว่า รัฐและบ้านเป็นสถานศึกษาและฝึกอาชีพ

สมัยกรุงศรีอยุธยา การศึกษาโดยทั่วไปตกอยู่กับวัดและบ้าน นับได้ว่าสถาบันทั้งสองมีส่วนทำให้ประเทศไทยเจริญในทางอักษรศาสตร์และศิลปศาสตร์เป็นอันมาก จะเห็นได้ว่าการช่างต่างๆ ยังคงปฏิบัติสืบเนื่องกันมา

การศึกษาสมัยกรุงธนบุรีเป็นอย่างไร?
สมัยกรุงธนบุรีเป็นระยะเวลาที่บ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย การฟื้นฟูการศึกษาจึงทำได้ไม่มากนัก แต่วัดก็ยังเป็นแหล่งที่ให้การศึกษาอยู่ โดยมีแต่เด็กผู้ชายเท่านั้นที่มีโอกาสศึกษา เพราะต้องอยู่กับพระที่วัดเรียนหนังสือและได้รับการอบรมความประพฤติ เรียนพระธรรม ภาษาบาลีสันสกฤต และศัพท์เขมร เพื่อประโยชน์ในการอ่านคัมภีร์พระพุทธศาสนา นอกจากนี้มีวิชาเลข เน้นมาตรา ชั่ง ตวง วัด มาตราเงินไทย และการคิดหน้าไม้ ซึ่งจะต้องนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน มีวิชาช่างฝีมือสำหรับเด็กโต ส่วนใหญ่เกี่ยวกับงานช่างก่อสร้าง เพื่อประโยชน์ในการบูรณะซ่อมแซมเสนาสนะ และสิ่งก่อสร้างภายในวัด สำหรับการเรียนวิชาชีพโดยตรงนั้นเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ใครมีอาชีพอะไรก็ถ่ายทอดวิชานั้นๆ