12.1.2 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีพระราชกรณียกิจทางด้านพุทธศาสนาอย่างไรบ้าง ?
ในช่วงรัชกาลของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น เป็นยุคสมัยที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด มีแต่ความพินาศยับเยินอยู่ทั่วไป เป็นสมัยของการกู้ชาติกู้บ้านเมือง เป็นสมัยที่องค์พระประมุขต้องทรงเหน็ดเหนื่อยตรากตรำ คร่ำเคร่งอยู่กับการรบทัพจับศึกอย่างแทบไม่มี เวลาหยุดยั้ง จนกล่าวได้ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีต้องทรงรับพระราชภาระด้านนี้ อย่างที่ไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเสมอเหมือน

แต่กระนั้นก็น่าสรรเสริญน้ำพระทัยพระองค์ท่านเป็นอย่างยิ่ง ที่สำหรับในด้านการพระศาสนานั้น ได้ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ทำนุบำรุงรักษาเป็นอย่างดี เท่าที่จะมีพระโอกาสอำนวยได้เสมอมา บาทหลวงปาลเลกัวซ์ ( ชาวฝรั่งเศส ) ได้กล่าวถึงความสนพระทัยของพระองค์ท่านในพระพุทธศาสนาไว้ว่า “… พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงแสดงพระองค์ยิ่งกว่าอัครพุทธศาสนูปถัมภกอันเป็นบทบาท ของสถาบันพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ต้นรัชกาลแล้ว หลังศึกอะแซหวุ่นกี้ มีหลักฐานว่าทรงใฝ่พระทัยในทางศาสนายิ่งขึ้น...ลักษณะที่ทรงใฝ่พระทัยในทางศาสนานั้น พระราชพงศาวดารกล่าวว่า

พระอุโบสถ วัดบางยี่เรือใต้
(ภาพจากหนังสือสาระน่ารู้กรุงธนบุรี)

เสด็จไปเจริญพระกรรมฐาน ณ พระอุโบสถวัดบางยี่เรือใต้ (วัดอินทาราม หรือวัดบางยี่เรือนอก , สาระน่ารู้กรุงธนบุรี, 2543 : 58) นับแต่ พ.ศ. 2319…” ( นิธิ เอียวศรีวงศ์ , การเมืองไทย สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี , ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ , อ้างโดย พลตำรวจตรีสุชาติ เผือกสกนธ์ : http://www. dobos.or.th./pr13.html , 28/11/44)

คราใดที่พระองค์ทรงมีเวลาว่าง คราใดที่สบพระโอกาส เมื่อนั้นพระองค์ท่านก็เป็นต้องทรงจับงานด้าน ฟื้นฟูการพระศาสนาขึ้นมาทันที

ดังจะเห็นได้จากทุกคราวที่เสด็จไปทำศึก กับบรรดาชุมนุมตามหัวเมืองต่างๆ ตลอดจนกับประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียง หากมีช่องทางแล้ว เป็นต้องทรงนำเอาการทำนุบำรุงพระศาสนา เข้ามาคาบเกี่ยวต่อเนื่องด้วยกันทุกครั้งไป การได้เป็นดังนี้มาจนตลอดรัชสมัยของพระองค์