 |
ถ้ามีกิจจะไปให้เอาอย่างนาคราชลิลาศลิลา อันลักขณะจำศีลนั้นให้รู้ทุกองคอักษร ระลึกเมื่อใดให้ได้เมื่อนั้น อย่าลืมประการซึ่งรักษาศีลนั้น ห้ามปรามอันใดบ้าง จงอุส่าห์อย่าให้ขาดตกหาย ถ้าบุทคลผู้ใดรักษาสิกขาบทได้เป็นแท้ อุส่าห์สำรวมเพื่อจะให้บุญยิ่งกอปป์ไปด้วยฤทธิ์ ก็ให้พึงเรียนพระกรรมฐาน 40 มีพระอนาปกรรมฐานเป็นพญา ให้ดูเอาพิธีซึ่งมีอยู่ในหอหลวงนั้นเถิด ประการซึ่งภาคภูมิพระกรรมฐานนั้น เป็นอัปปรมาโณหารู้ที่จะประมาณไม่ เกลือกเจ้ากูกุลบุตร์สำรวมเป็นอันดี เกิดน้ำจิตรกลางพัด อัสสาสะ ปัสสาสะ เดินเป็นสุขุม อติสุขุม อนิจจลาสุขุม ฝ่ายเจ้ากูผู้นั้นไม่รู้ก็จะฆ่า อัสสาสะ ปัสสาสะ นั้นเสีย ก็จะเสียทีไป ให้ประคองไว้ไต่ตามอัสสาสะ ปัสสาสะ นั้นขึ้นไปเถิด เป็นภาคภูมิพระกรรมฐานอยู่แล้ว อันลักขณะวาโยสุขุมเดินเข้าออกแรงตรง แต่ถ้าว่าพาหาซ้ายขวาเศียรคางกายมิได้ไหว อันซึ่งลมอัติสุขุมเดินแน่นิ่งน้อยดีขึ้นกว่านั้น แลซึ่งลมอนิจจลาสุขุมเดินแน่แน่วละเอียดสุดตาโลกทั้งปวงๆ เรียกว่านิคสวาดิ์ แลซึ่งวาโยดั่งนี้มีแก่โยคาวจรเจ้าพระองค์ใด พระองค์นั้นมีบุญให้ไต่ตามอัสสาสะ ปัสสาสะขึ้นไป ก็จะพบอุคหะปรติภาค ปถมฌาน ตราบเท่าปัญจมฌานเป็นที่สุด ถ้าขัดสนให้ดูอรรถกถา พิทธีฎีกา ซึ่งมีอยู่ในหอหลวงเสร็จสิ้นแล้ว สมเขปไว้โดยปัญญา ถ้าเห็นดีต้องใจจงเรียนเอา ถ้าไม่ขอบใจพึงละเสีย ประโยชน์ให้เป็นทาน ณ วันอาทิตย์ เดือนสาม ขึ้นสองค่ำ จุลศักราช 1138 ปีวอก อัฐศก(เสทื้อน ศุภโสภณ , 2527 : 64-73)
12.1.3 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตราพระราชกำหนดว่าด้วยศีลสิกขาเป็นกฎหมาย ว่าด้วยข้อวัตรปฏิบัติในทางธรรมวินัยของพระสงฆ์ไว้อย่างไร?
พระราชกำหนดว่าด้วยศีลสิกขาฉบับนี้เป็นกฎหมายว่าด้วยข้อวัตรปฏิบัติในทางธรรมวินัยของพระสงฆ์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้โปรดให้ตราขึ้นเมื่อปีมะเส็ง เบญจศก จุลศักราช 1135 ตรงกับ พ.ศ.2316 อันอยู่ในระยะต้นรัชสมัย เพิ่งครองราชย์ และสถาปนากรุงธนบุรีมาได้ 6 ปี สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น ยังไม่สู้จะเป็นปรกติดี ด้วยเพิ่งจะทรงรวบรวมแผ่นดินไทยกลับคืนมาได้หมดจากการปราบชุมนุมต่างๆ โดยมีชุมนุมเจ้าพระฝาง (อยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์เดี๋ยวนี้) เป็นชุมนุมสุดท้าย ในปี พ.ศ.2313
การประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้แสดงว่าพร้อมๆ กับที่ทรงจัดการกับปัญหาบ้านเมือง และการศึกสงคราม อย่างแทบไม่มีเวลาว่างเว้นเลยนั้น ก็ได้ทรงจับงานด้านพระศาสนาไปด้วย
ทั้งนี้ ก็เป็นด้วยการคณะสงฆ์ หรือสังฆมณฑลในเวลานั้น ยังไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย พระสงฆ์เป็นจำนวนมากประพฤติปฏิบัติย่อหย่อน ไม่อยู่ในพระธรรมวินัยเป็นอันดี ทำให้เป็นที่เสื่อมศรัทธาของมหาชนเป็นอันมาก หากปล่อยทิ้งไว้ต่อไป จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติบ้านเมืองด้วย มิใช่เฉพาะแต่การพระศาสนาเท่านั้น |
|
|