ประเพณีพระมหากษัตริย์พระราชทานพระราชปุจฉาปัญหาธรรมแก่พระราชาคณะนี้ ถือกันว่าเป็นอุบายอย่างหนึ่งในการทำนุบำรุงการศึกษาพระธรรมวินัยให้เจริญรุ่งเรือง ด้วยว่าผู้ที่จะแก้พระราชปุจฉาได้จะต้องค้นคว้าสอบสวนคัมภีร์ต่างๆ มาถวายวิสัชนา เป็นประเพณีที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สืบทอดมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้
มีหลักฐานปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารหลายตอน เฉพาะอย่างยิ่งในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ สำหรับเหตุการณ์ในสมัยกรุงธนบุรี เป็นต้นว่า
คราวหนึ่งในปี พ.ศ.2320 ได้ทรงมีพระราชปุจฉากับสมเด็จพระสังฆราช ถึงเรื่องผลของการบำเพ็ญทาน
แล้วตรัสถามพระสังฆราชว่า เงินคงอยู่ในพระสุธาบัดนี้ สั่งสอนโลกทั้งปวงให้กระทำทานด้วยทองด้วยเงิน แล้วจะไปได้สมบัติฟากฟ้านั้น จะได้ด้วยกุศลตัวใด ครั้นพระสังฆราชถวายวิสัชนาแล้ว จึงตรัสนิมนต์พระเทพกวีออกไปเมืองกัมพูชา พระพรหมมุนีไปนครศรีธรรมราช ขนคัมภีร์พระวิสุทธิมรรคเอาเข้ามาฐาปนาการไว้แล้ว
|