9. ได้พระแก้วมรกตกลับคืนมา
ในโอกาสที่ได้โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ) เป็นแม่ทัพใหญ่ ยกกองทัพขึ้นไปตีเวียงจันทน์ได้ในปี พ.ศ.2322 นั้น ตอนขากลับกองทัพไทยก็ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบาง ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ เมืองเวียงจันทน์นั้นลงมาด้วย

พระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากรณ์
(พระแก้วมรกต)
(ภาพจากหนังสือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)

พระแก้วมรกตนี้ นับถือกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ และมีค่าอย่างยิ่ง เป็นมิ่งขวัญคู่บ้านคู่เมือง เป็นพระพุทธรูปที่เทวดาสร้าง จะประทับอยู่ได้ก็แต่ในประเทศที่เป็นเอกราช และมีพระพุทธศาสนาเป็นหลักมั่นคงเท่านั้น

เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงทราบข่าวการได้พระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ และทรงคุณค่าอย่างสูงสุดกลับคืนมา ก็ทรงปิติโสมนัสเป็นยิ่งนัก โปรดให้สมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะทั้งปวง ยกขบวนกันไปรับจนถึงเมืองสระบุรี

พร้อมกันนั้นก็โปรดให้จัดขบวนเรือเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปรับด้วยพระองค์เอง ที่ตำบลบางธรณีใต้ปากเกร็ด เป็นขบวนเรือมโหฬารถึง 154 ลำ เมื่อรวมกับขบวนเรือที่แห่มาแต่เดิมเข้าด้วยกัน ก็เป็นจำนวนเรือในขบวนทั้งสิ้น 246 ลำ นำแห่เข้ามายังกรุงธนบุรี


ได้โปรดให้ปลูกโรงรับเสด็จพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองทั้งสององค์นี้ ประดิษฐานไว้ข้างพระอุโบสถวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) ภายในเขตพระราชฐาน ตั้งเครื่องสักการบูชาอย่างเอนกอนันต์ จากนั้นก็โปรดให้จัดงานพระราชพิธีสมโภชเฉลิมฉลองพระแก้วมรกต ด้วยมหรสพการแสดงต่างๆ ทั้งสองฝั่งลำน้ำเจ้าพระยาอย่างเอิกเกริกมโหฬาร เป็นเวลานานถึง 7 วัน 7 คืน มีโรงมหรสพการแสดงนานาชนิดรวมกันเป็นสิบๆ โรง เข้าใจว่าจะเป็นงานสมโภชสนุกสนานอย่างมโหฬารครั้งแรกของไทย ภายหลังจากที่กรุงศรีอยุธยาแตกมาได้ 12 ปีพอดี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระราชดำริจะสร้างพระมหาปราสาท ถวายพระแก้วมรกตขึ้นไว้ภายในพระราชฐาน เมื่อทรงมีโอกาสว่างจากพระราชภาระทางด้านศึกสงคราม แต่การได้ค้างไว้จนสิ้นรัชกาล