12.1 พระราชกรณียกิจด้านการพระศาสนา
12.1.1 หลังจากไทยประสบความพินาศครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ.2310 นั้น พระพุทธศาสนาได้รับความกระทบกระเทือนมากน้อยแค่ไหน ?
เมื่อคราวที่กรุงศรีอยุธยาต้องประสบความพินาศครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2310 นั้น พระพุทธศาสนาในราชอาณาจักรไทยได้รับความกระทบกระเทือนอย่างหนัก ชนิดที่ไม่เคยประสบกันมาในกาลก่อน วัดวาอาราม พระพุทธรูป พระสถูปเจดีย์ ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุ ตลอดจนพระไตรปิฎก พระธรรมคัมภีร์ต่างๆ ต้องวิบัติสูญเสียไปด้วยน้ำมือของข้าศึกเป็นจำนวนมากมายก่ายกอง พระสงฆ์องค์เจ้าถูกฆ่า ถูกข้าศึกกวาดต้อนจับเอาไปเป็นเชลย เป็นจำนวนมิใช่น้อย ที่เหลืออยู่ก็ต้องซัดเซพเนจร กระจัดกระจายหลบซ่อนอยู่ตามที่ต่างๆ เป็นที่น่าเอน็จอนาถใจยิ่งนัก
สมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพนฯ ในรัชกาลที่ 1 ได้พรรณนาถึงความพินาศครั้งใหญ่ของพระนครศรีอยุธยาในคราวนั้น ไว้ในเรื่อง สังคีติยวงศ์ พงศาวดารเรื่องสังคายนาพระธรรมวินัย ซึ่งท่านได้รจนาขึ้นไว้แต่ในครั้งนั้น มีข้อความที่กล่าวถึงความวิบัติของพระพุทธศาสนาไว้หลายตอน เป็นเอกสารที่มีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์เป็นอันมาก เพราะท่านผู้แต่งได้เกิดทันรู้เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง อีกทั้งยังอยู่ในวัยสูงอายุพอสมควรแล้วอีกด้วย จึงขอนำคำแปล ( ท่านแต่งไว้เป็นภาษามคธ ) บางตอนมาลงไว้เป็นหลักฐานดังต่อไปนี้
พระนครนั้นต้องล้อมอยู่ 2 ปี ชาวเมืองทั้งหลายก็สิ้นเสบียงอ่อนเพลียเสียพระนคร เมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ 2310 ปีกุนกับปีจอต่อกัน เดือนสาม ขึ้น 9 ค่ำ วันอังคาร ยาม เสาร์ เพลาราตรี ก็เป็นที่สุดการสงคราม
พระนครนั้นก็ฉิบหายตามกาลอย่างใด ความฉิบหายอย่างใด สิ้นอายุแล้วอย่างใด แปรปรวนแล้วอย่างใด สาบสูญโดยประการใด ( พม่าข้าศึก ) จับเอาประชาชนทั้งหลาย มีพระราชวงศ์เป็นต้นด้วยเก็บทรัพย์ทั้งหลายมีประการเป็นอันมากด้วย แล้วเผาพระนครและปราสาทสามองค์ แลพระอารามวิหารเสียด้วย แล้วทำลายกำแพงเมืองเสียด้วย แล้วทำพัสดุของกรุงอโยธยนคร มีพระธรรมแลพระวินัย คือไตรปิฎก เป็นต้น ให้พินาศเสียแล้ว ก็กลับไปสู่เมืองของตน ได้ถวายทรัพย์ทั้งหลายเป็นอันมากด้วย แลถวายอาวุธน้อยใหญ่สำหรับราชสกุลเป็นต้นด้วยแก่เจ้านายของตน
ต่อจากนั้น ท่านก็พรรณาถึงความวิบัติทุกข์ยากนานาประการ ที่มหาชนชาวไทยต้องประสบกันในครั้งนั้น อย่างสาหัสฉกรรจ์ไว้เป็นอันมาก แล้วก็หวนกลับมากล่าวถึงความวิบัติเศร้าหมองของพระพุทธศาสนาต่อไป มีความสำคัญบางตอนดังนี้
|