11.2 พระราชกรณียกิจด้านกฎหมายและศาล
11.2.1 ด้านกฎหมายในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เป็นอย่างไร ?
เนื่องจากตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นช่วงเวลาแห่งการรบทัพจับศึก ซึ่งทำให้ไม่มีเวลาที่จะชำระพระราชกำหนดกฎหมายต่างๆ ในการตัดสินคดีความ จึงยังคงใช้กฎหมายที่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยให้ กรมวัง หรือกระทรวงวัง เป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณาว่า คดีใดควรขึ้นศาลใด แล้วส่งคดีไปยังศาลกรมนั้นๆ โดยจะแบ่ง งานศาล ออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ
ฝ่ายรับฟ้อง มีหน้าที่ในการเขียนคำฟ้อง และพิจารณาคดีว่าควรฟ้องหรือไม่ ก่อนจะดำเนินการส่งขึ้นศาล ตลอดจนทำหน้าที่ปรับไหมและลงโทษผู้กระทำผิด
ฝ่ายตรวจสำนวนและพิพากษา ซึ่งเดิมเป็นหน้าที่ของพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายแขนงต่างๆ จำนวน 12 คน โดยเรียกว่า " ลูกขุน ณ ศาลหลวง " ต่อมาในระยะหลังได้มีคนไทยที่เชี่ยวชาญกฎหมายได้เข้ามาทำหน้าที่นี้ด้วย แต่คณะลูกขุน ณ ศาลหลวงนี้ จะไม่มีอำนาจในการปรับหรือลงโทษ
อย่างไรก็ตาม ในรัชกาลของพระเจ้าตากสิน พระองค์จะทรงใช้ " ศาลทหาร " เป็นส่วนใหญ่ โดยการตัดสินคดีทุกครั้งแม้พระองค์จะตัดสินโทษสูงสุดแล้ว แต่ก็จะทรงมีรับสั่งให้ทยอยลงโทษ จากขั้นต่ำสุดก่อนซึ่งหลายครั้งจะปรากฏว่า นักโทษที่มีความผิดร้ายแรง ก็มักจะได้รับการพระราชทานอภัยโทษละเว้นโทษหนักในเวลาต่อมา โดยให้ไปกระทำการอย่างอื่นเป็นการไถ่โทษแทน ( มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานพระราชวังเดิม , 2543 : 86-87)
มีตัวอย่างดังปรากฏบทลงโทษ ผู้กระทำผิดคดโกงแผ่นดินให้ลงโทษอย่างหนัก เช่น การทำเงินปลอมทรงให้ลงโทษประหารชีวิต หรือการโกงข้าวหลวงให้ลงพระอาญาเฆี่ยน 100 ที แล้วปรับไหมใช้ข้าว 10 เท่า แล้วให้ลดยศจากหลวงให้เป็นนายหมวดคุมไพร่และจำบุตรภรรยาไว้ (53 พระมหากษัตริย์ไทย : ธ ทรงครองใจไทยทั้งชาติ, 2543 : 242)
|