3. การปกครองไพร่
การควบคุมกำลังคน หรือ " การควบคุมไพร่ " เป็นสิ่งสำคัญของการปกครองของไทย ระบบไพร่ได้สลายไปเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาแตก มูลนายต่างถือโอกาสนำไพร่หลวงมาเป็นสมบัติส่วนตัว ทำให้รัฐขาดประโยชน์ ทั้งในรูปของแรงงานและภาษีเป็นจำนวนมาก สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงให้ฟื้นฟูระบบไพร่ขึ้นใหม่โดยโปรดฯ ให้มีการสักข้อมือหมายหมู่ ไพร่หลวง และ ไพร่สม ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่การสักข้อมือหมายหมู่ไพร่ต้องกระทำต่อไพร่ทุกกรมกอง และมีการกำหนดโทษการปลอมแปลงเหล็กสักด้วยโทษประหารชีวิตทั้งโคตร

นอกจากนี้ยังมีพระราชกำหนดเก่าเท่าที่มีในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน คือ พระราชกำหนด พ.ศ.2317 ให้เหตุผลเกี่ยวกับการวางกฎเกณฑ์ให้ไพร่ทุกคนต้องสักชื่อตามนายและตามเมือง ที่อยู่และยังได้ระบุว่า “ ผู้ใดปลอมเข็มสักหรือสักไพร่ปลอมว่าเป็นไพร่ของตน จะต้องได้รับโทษถึงตาย ” การสักชื่อนาย หรือชื่อเมืองที่ข้อมือไพร่ไม่เคยปรากฏมาก่อนสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน เหตุผลที่ต้องออกพระราชกำหนดให้ไพร่ทุกคนต้อง สักเลก เช่นนี้เพื่อประโยชน์ในการเกณฑ์แรงงานทั้งในยามสงบและยามสงคราม และเพื่อเป็นการป้องกันการสูญไพร่หลวงด้วย (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2546 : 362) เพราะการก่อสร้างราชธานีใหม่ และการสงครามนั้นทำให้รัฐต้องการแรงงานจำนวนมาก ( มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม , 2543 : 98-100)

หมายเหตุ
ไพร่ คือ บรรดาราษฎรสามัญชนในความหมายปัจจุบัน ไพร่ต้องมีภาระ คือ การรับใช้ราชการแผ่นดินของพระมหากษัตริย์ ไพร่จะเป็นชายฉกรรจ์ จะถูกมูลนายเอาชื่อเข้าบัญชีเพื่อเกณฑ์ไปใช้ในราชการต่างๆ ด้วยเหตุนี้ไพร่จึงต้องสังกัดอยู่กับเจ้าขุนมูลนายที่ตนสมัครใจอยู่ด้วย การที่ชายฉกรรจ์สามัญชนทุกคนต้องขึ้นทะเบียนสังกัดมูลนาย ก็เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เพราะกฎหมายระบุไว้ว่า ถ้าชายฉกรรจ์ไม่มีสังกัด ก็ไม่มีสิทธิในการศาล และไม่มีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ไพร่ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทตามสังกัด คือ
(1) ไพร่หลวง หมายถึง ไพร่ที่สังกัดกรมกองต่างๆ เป็นไพร่ของพระมหากษัตริย์โดยตรง หน้าที่ของไพร่หลวงจึงแตกต่างกันไปตามแต่หน้าที่ของกรมกองนั้น ไพร่หลวงมี 2 ลักษณะ คือ ประเภทที่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานมาทำงานที่ทางราชการกำหนด และประเภทที่ต้องเสียเงินหรือสิ่งของมาแทนการ เกณฑ์แรงงาน หรือเรียกว่า ไพร่ส่วย ในช่วงแรกๆ จะมีการส่งของมาแทนการเกณฑ์แรงงาน หรือที่เรียกว่า “ การเข้าเวร ” แต่ในตอนปลายสมัยอยุธยา ประมาณในช่วงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จะมีการส่งเงินมาแทนการเกณฑ์แรงงานมากขึ้น เงินที่ส่งมาเรียกว่า “ เงินค่าราชการ ”