จักรพรรดิมิน หม่าง ( Emperor Minh-mang)
(ภาพจากหนังสือ Imperial Britain in South-East Asia)
ใน พ.ศ. 2316 เกิดกบฏไกเซินหรือไตเซิน ( Tay-Son) ขึ้นในญวนใต้ กองทหารฝ่ายรัฐบาลพ่ายแพ้แก่ญวนกบฏ ขณะที่ญวนใต้มัวแต่ปราบกบฏอยู่นั้น ทัพตังเกี๋ยของพวกตริญก็ถือโอกาสยกเข้ามายึดเมืองเว้ พวกกบฏยึดเมืองไซ่ง่อนได้ พวกสกุลเหงียนพยายามต่อสู้กับพวกกบฏจนเสียชีวิตไปหลายคน องเชียงชุน น้องชายคนหนึ่งของอุปราชเมืองเว้หนีมาอาศัยพระยาราชาเศรษฐี ที่เมืองบันทายมาศ ต่อมาพวกกบฏยกกองทัพมาตีเมืองบันทายมาศแตก พระยาราชาเศรษฐีกับองเชียงชุนจึงพาครอบครัวลงเรือ หนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ณ กรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระ

กรุณาให้รับไว้แล้วพระราชทานบ้านเรือนให้ แต่ “ ฝ่ายองเชียงชุนซึ่งเข้ามาอยู่ ณ กรุงธนบุรีนั้น มิได้มีจิตสวามิภักดิ์ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดชุบเลี้ยง คิดการจะหนีกลับไปเมืองญวน ครั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงทราบ จึงให้จับตัวองเชียงชุนกับทั้งบุตรภรรยาสมัครพรรคพวกกว่า 50 คน ประหารชีวิตเสียทั้งสิ้นด้วยกัน ” (พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา พิมพ์ พ.ศ. 2505 : 411)

เชื้อสายของสกุลเหงียนอีกผู้หนึ่งที่จะมีความสำคัญต่อเมืองญวนต่อมาคือ องเชียงสือ ซึ่งเป็นหลานอาขององเชียงชุน (พงศาวดารญวนเรียกองเชียงสือว่า เหงียนอาน -Nguyen-Anh ) ซึ่งเวลานั้นมีอายุเพียง 15 ปี หนีพวกกบฏไปยังเกาะ ปูโล ปันยัง ( Pulo Panjang ) ด้วยความช่วยเหลือของบาทหลวงคาธอลิคชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งชื่อ ปิญโญ เดอ เบแอน ( Pigneau de Behaine ) ผู้ได้รับตำแหน่งสังฆราชแห่งอาดรัง ( Bishop of Adran ) องเชียงสือสามารถรวบรวมสมัครพรรคพวกสู้รบกับพวกกบฏ จนตีเมืองไซ่ง่อนคืนจากไตเซินได้ บรรดาขุนนางในเมืองไซ่ง่อนจึงยกองเชียงสือเป็นเจ้าเมืองไซ่ง่อน (เรียกว่า พระเจ้าเวียดนามยาลอง) ระหว่างนั้นได้ส่งทูตมาเจริญทางพระราชไมตรีกับพระราชอาณาจักรไทยอีกครั้งหนึ่ง