เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 10 แรม 6 ค่ำ เจ้านครทราบก็ตกใจรีบกะเกณฑ์ผู้คนให้อุปราชจันทร์ตั้งค่ายคอยต่อสู้อยู่ที่ท่าโพธิ์ อันเป็นนิวาสถานของอุปราชจันทร์และเป็นท่าขึ้นเมืองนครศรีธรรมราช ห่างจากตัวเมืองประมาณ 30 เส้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกขึ้นไปตีค่ายท่าโพธิ์แตก จับอุปราชจันทร์ได้ พวกไพร่พลก็แตกหนีเข้าเมือง เจ้านครฯ จำใจเกรงพระเดชานุภาพเป็นกำลัง ก็สิ้นความคิดที่จะต่อสู้ จึงทิ้งเมืองพาญาติวงศ์ออกจากเมืองหนีลงไปเมืองสงขลา ในเวลานั้น นายคงไพร่นายกองพระเสนาภิมุข เห็นช้างพลายเพชรช้างที่นั่งเจ้านครฯผูกเครื่องสรรพปล่อยอยู่ จึงจับเอามาถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีๆ เสด็จขึ้นทรงช้างพลายเพชร เสด็จเข้าเมืองนครศรีธรรมราช ขณะเมื่อรบกับอุปราชจันทร์ เสียนายเพชร ทนายเลือกถูกปืนตายในที่รบคนเดียว จับได้ธิดาและญาติวงศ์ของเจ้านคร นางสนม เหล่าชาวแม่พนักงานและบริวารของเจ้านคร พร้อมทั้งอุปราชจันทร์ และขุนนางทั้งปวง รวมทั้งทรัพย์สมบัติเป็นอันมาก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ได้เมืองนครศรีธรรมราชโดยง่าย เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 10 แรม 6 ค่ำ

ฝ่ายเจ้านครฯ นั้นพาบุตร ธิดา ญาติวงศ์พร้อมทั้งทรัพย์สินติดตัวหนีลงเรือไปยังเมืองสงขลา และหลวงสงขลาพาหนีต่อไปจนถึงเมืองเทพาอันเป็นเมืองขึ้นของเมืองสงขลา ส่วนกองทัพบกซึ่งเจ้าพระยาจักรีแขกเป็นแม่ทัพนั้น พระยายมราชกองหน้าตีได้ค่ายข้าศึกที่ท่าหมาก แล้วยกต่อลงไปพบค่ายเมืองนครตั้งมั่นอยู่ที่เขาหัวช้างอยู่อีกแห่งหนึ่ง แต่ยังไม่ทันที่จะสู้รบกัน เพราะทหารเหล่านั้นพากันเสียขวัญเมื่อได้ทราบว่าเมืองนครศรีธรรมราชแตกแล้ว ก็พากันหนีหมดสิ้น เจ้าพระยาจักรี (แขก) จึงรีบนำทัพเข้าไปในเมืองนครศรีธรรมราชอย่างรีบเร่ง เพราะเกรงจะไม่ทันการณ์ ตามที่ได้รับสั่งให้กองทัพบกสมทบกันเข้าตีพร้อมกับกองทัพเรือ แม้กระนั้นก็ยกไปถึงช้ากว่ากองทัพเรือถึง 8 วัน เข้ากราบทูลความผิดและขอรับพระราชทานอาญา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงภาคทัณฑ์โทษไว้ โดยให้เจ้าพระยาจักรี (แขก) กับพระยาพิชัยราชาคุมกำลังทางบกทางเรือไปตามจับเจ้านครฯเป็นการแก้ตัว แล้วสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงยกกองทัพหลวงจากเมืองนครศรีธรรมราชตามไปยังเมืองสงขลา ณ วันศุกร์ เดือน 11 ขึ้น 6 ค่ำ

กองทัพเจ้าพระยาจักรี (แขก) กับพระยาพิไชยราชาลงไปถึงเมืองสงขลาได้ความว่า พระยาพัทลุงกับหลวงสงขลาพาเจ้านครฯ หนีลงไปข้างใต้ ก็ยกตามลงไปถึงเทพา ซึ่งอยู่ต่อแดนกับเมืองมะลายู สืบถามได้ความว่าเจ้านครฯหนีลงไปอาศัยพระยาปัตตานีศรีสุลต่าน เจ้าพระยาจักรี (แขก) จึงมีศุภอักษรลงไปยังพระยาปัตตานีว่า เจ้านครฯ นั้นเป็นศัตรูของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีๆ มีรับสั่งให้มาติดตามเอาตัว ให้พระยาปัตตานีส่งตัวเจ้านครฯกับพรรคพวกที่หนีไปอยู่ในแดนเมืองปัตตานีมาถวายเสียโดยดี ถ้าไม่ส่งมาก็จะต้องยกกองทัพเข้าไปในแดนเมืองปัตตานี เห็นว่าพระยาปัตตานีจะได้รับความเดือดร้อนเปล่าๆ พระยาปัตตานีมีความกลัวกองทัพไทย ก็ให้จับเจ้านครฯ เจ้าพัฒน์บุตรเขย กับเจ้ากลาง และพระยาพัทลุง หลวงสงขลา รวมทั้งพรรคพวก ส่งเข้ามายังกองทัพเจ้าพระยา