ยิงต่อสู้ ยิงจักกายวอซึ่งเป็นแม่ทัพพม่าตาย แล้วพากันแตกหนีมาทางบ้านนาเกาะดอกเหล็ก ได้ทรงทราบทรงพระราชดำริเห็นว่า พวกพม่าที่ตามครอบครัวมอญเห็นจะไม่แข็งแรงดังที่เมืองตากบอกไปครั้งก่อน จึงให้หากองทัพเจ้ารามลักษณ์กลับไปช่วยรบทางเมืองเชียงใหม่ แล้วทรงมีพระราชดำรัสให้มีตราถึงพระยากำแหงวิชิต ให้แบ่งกำลังที่เมืองตากออกไปตั้งค่ายรักษาด่านบ้านนาเกาะดอกเหล็ก คอยรับครอบครัวมอญที่จะตามเข้ามาทีหลังต่อไป

ส่วนทางด้านเมืองเชียงใหม่ เจ้าพระยาจักรีให้พระยาวิจิตรนาวีลงมากราบทูลว่าพอตั้งค่ายด้านเหนือแล้ว จะให้เข้าปล้นเมืองเชียงใหม่พร้อมกันทีเดียว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงสดับไม่เห็นด้วย ทรงมีพระราชดำรัสว่า พม่าตั้งค่ายรับอยู่ในเมือง ซึ่งจะกรูกันเข้าไปเกลือกจะเสียที แล้ว ทหารก็จะถอยกำลัง ถ้าล้อมรอบเมืองได้แล้วจะหักเข้าที่ไหน ก็ให้ตั้งหน้าทำเข้าไปเฉพาะที่ตรงนั้น และบรรดาค่ายทั้งปวงให้ขุดคูลงขวากกันข้าศึก แต่ซึ่งค่ายประชิดหามแล่นนั้นให้ขุดคลองเป็นบังปืนพม่า ให้ดูที่ค่ายใดซึ่งตั้งเข้าใกล้เมืองได้ ก็ให้ขุดคลองโปรยขวากกระจับที่ค่ายนั้น แม้นข้าศึกจะยันออกมาหักค่าย ก็ให้ไล่คลุกคลีติดตามเข้าเมืองทีเดียว พระยาวิจิตรนาวีก็กราบถวายบังคมลากลับไปแจ้งข้อรับสั่งแก่เจ้าพระยาจักรีๆ ก็จัดการตระเตรียมตามกระแสพระราชดำรัสทุกประการ

ฝ่ายโปสุพลา โปมะยุง่วน นายทัพพม่าที่รักษาเมืองเชียงใหม่ เห็นฝ่ายไทยเข้าไปตั้งค่ายล้อมเมือง ก็คุมพลออกมาตั้งค่ายประชิด แล้วให้ออกมาปล้นค่ายไทยหลายครั้ง ถูกฝ่ายไทยยิงไพร่พลพม่าล้มตายลงเป็นอันมาก ต้องล่าถอยกลับเข้าค่ายทุกที คราวหนึ่งทัพพม่าออกปล้นค่ายเจ้าพระยาจักรี ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกในเวลากลางวัน เจ้าพระยาจักรีก็มิได้ครั่นคร้าม นั่งเล่นหมากรุกอยู่ในค่าย พลางร้องสั่งทหารให้วางปืนใหญ่น้อยออกไปจากค่ายยิงพม่าๆ ถูกปืนล้มตายลงมาก จะปล้นเอาค่ายมิได้ ก็ถอยยกกลับเข้าค่าย จนไพร่พลพม่าย่อท้อ ก็ได้แต่รักษาค่ายป้องกันเมืองไว้ ขณะนั้นชาวเมืองเชียงใหม่ที่แตกฉานไปเที่ยวซุกซ่อนอยู่ในป่า เห็นกองทัพไทยไปตั้งค่ายล้อมพม่าอยู่ ก็พากันออกมาเข้ากับกองทัพไทยเป็นอันมาก ทั้งพวกที่อยู่ในเมืองก็พากันเล็ดลอดหลบหนีออกมาหากองทัพไทยเนืองๆ ได้ครอบครัวชาวเชียงใหม่มาเข้ากับกองทัพไทยมีจำนวนกว่า 5,000 คน

ครั้น ณ วันเสาร์ เดือน 2 ขึ้น 13 เวลาย่ำรุ่ง จึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็ทรงเครื่องวิภูษิตสำหรับราชรณยุทธ ทรงราชาวุธพร้อมสรรพ ขึ้นทรงช้างต้นพลายคเชนทรบรรยงค์เป็นราชพาหนะ ให้ยาตราพลากรทัพหลวงจากค่ายริมเมืองลำพูน ขึ้นไป ณ เมืองเชียงใหม่ หยุดประทับรอนแรม ณ พลับพลาไชย ไกลจากเมืองเชียงใหม่ในระยะทาง 352 เส้น (34.33 กิโลเมตร) แล้วดำเนินกองทัพหลวงไปประทับ ณ ค่ายมั่นริมแม่น้ำปิงใกล้เมือง แล้วเสด็จไปทอดพระเนตรค่ายที่ตั้งล้อมเมืองเชียงใหม่ ทรงมีพระราชประสงค์จะให้ตีเมืองเชียงใหม่ให้ได้โดยเร็ว ในวันนั้นเจ้าพระยาจักรีก็ยกกองทัพเข้าตีค่ายพม่า ซึ่งออกมาตั้งรับอยู่นอกเมือง ข้างด้านใต้กับด้านตะวันตกแตกหมดทุกค่าย