ต่อมาพระเจ้ามังระได้มีรับสั่งให้อะแซหวุ่นกี้คิดการตีเมืองไทย อะแซหวุ่นกี้เตรียมทัพแบ่งกำลังเป็น 2 ส่วน ยกเข้ามาทางเมืองตาก ไล่ตีมาจนถึงเมืองสุโขทัย และได้พยายามตีเมืองพิษณุโลกอยู่นาน ซึ่งขณะนั้นเจ้าพระยาจักรีรักษาการณ์อยู่ อะแซหวุ่นกี้ชื่นชมในฝีมือของเจ้าพระยาจักรีถึงกับขอดูตัว ในที่สุดฝ่ายไทยจำต้องทิ้งเมือง เนื่องจากขาดเสบียงอาหาร แต่เป็นเวลาเดียวกับที่พระเจ้ามังระสิ้นพระชนม์ จิงกูจาราชบุตรได้รับราชสมบัติ มีรับสั่งให้อะแซหวุ่นกี้พากองทัพกลับ

ประวัติชีวิตในบั้นปลายของอะแซหวุ่นกี้ มีการบันทึกไว้แตกต่างกัน แต่หากอ้างอิงตามสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทยนั้น เมื่อจิงกูจาราชบุตรมีรับสั่งให้อะแซหวุ่นกี้ยกทัพกลับแล้ว จากนั้นได้พาลหาเหตุถอดอะแซหวุ่นกี้ออกจากยศถาบรรดาศักดิ์

ภายหลังอะแซหวุ่นกี้ได้ร่วมมือกับอะตวนหวุ่นกำจัดพระเจ้าจิงกูจา แล้วยกราชสมบัติถวายมังหม่อง แต่มังหม่องนั่งเมืองอยู่ได้เพียง 11 วัน พระเจ้าปดุงก็จับสำเร็จโทษเสีย เมื่อพระเจ้าปดุงได้ราชสมบัติแล้ว ได้แต่งตั้งอะแซหวุ่นกี้ให้ไปเป็นอุปราช สำเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายใต้ อยู่ที่เมืองเมาะตะมะจนสิ้นชีวิตเมื่อ พ.ศ.2333 (สาระน่ารู้กรุงธนบุรี, 2546 : 173-174) สงครามครั้งที่ 9

คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ปีวอก พ.ศ. 2319

มูลเหตุที่เกิดสงครามครั้งนี้ ทำนอง พระเจ้าจิงกูจา ซึ่งได้เป็นพระเจ้าอังวะขึ้นใหม่ มีพระประสงค์จะตีเมืองเชียงใหม่ ซึ่งจัดเป็นเมืองในแว่นแคว้นลานนาไทย 57 หัวเมือง จึงจัดกองทัพพม่ามอญให้ อำมลอกหวุ่น เป็นแม่ทัพ ให้ ตอหวุ่น กับ พระยาอู่มอญ เป็นปลัดทัพ ยกมาจากเมืองพม่า ให้มาสมทบกับกองทัพ โปมะยุง่วน ซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองเชียงแสน พร้อมกันลงมาตีเมืองเชียงใหม่

ขณะนั้นพระยาจ่าบ้าน ซึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งให้เป็นพระยาวิเชียรปราการ ได้ครองเมืองเชียงใหม่มาตั้งแต่ไทยตีเมืองได้จากพม่า เห็นกองทัพพม่ายกมาเหลือกำลังที่จะต่อสู้ได้ พอมีใบบอกลงมายังกรุงธนบุรีแล้ว พระยาวิเชียรปราการก็อพยพครอบครัวทิ้งเมืองเชียงใหม่หนีลงมาเมืองสวรรคโลก พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงทราบว่าพม่ายกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ และพระยาวิเชียรปราการทิ้งเมืองหนีมาดังนั้น จึงโปรดให้รับพระยาวิเชียรปราการลงมายังกรุงธนบุรีแล้ว ให้มีตราสั่งเจ้าพระยาสุรสีห์ให้คุมกองทัพหัวเมืองเหนือขึ้นไปสมทบกับพระยากาวิละ เจ้าเมืองนครลำปาง ยกไปตีเอาเมืองเชียงใหม่คืน กองทัพไทยยกขึ้นไป พม่าสู้ไม่ได้ก็ทิ้งเมืองเชียงใหม่ เลิกทัพกลับไป