 |
ระยะที่ 1 ตั้งที่บางทราย พระยาราชสุภาวดี เป็นนายทัพ
ระยะที่ 2 ตั้งที่ท่าโรง เจ้าพระยาอินทรอภัย เป็นนายทัพ
ระยะที่ 3 ตั้งที่บ้านกระดาษ พระยาราชภักดี เป็นนายทัพ
ระยะที่ 4 ตั้งที่วัดจุฬามณี จมื่นเสมอใจราช เป็นนายทัพ
ระยะที่ 5 ตั้งที่วัดจันทร์ท้ายเมืองพิษณุโลก พระยานครสวรรค์ เป็นนายทัพ
ให้จัดกองตระเวนออกตรวจตรารักษาทางคมนาคมทุกระยะ และให้มีกองปืนใหญ่ทหารเกณฑ์หัดเตรียมไว้เป็นกองหน้า สำหรับจะให้ไปช่วยที่ค่ายไหนๆ ได้ในเวลาทันท่วงที แล้วให้พระยาศรีไกรลาศคุมพล 500 ทำทางริมลำน้ำสำหรับเดินกองทัพแต่ปากพิงผ่านไปตามค่ายที่ตั้งอยู่ ตลอดถึงเมืองพิษณุโลก
พอกองทัพหลวงยกขึ้นไปติดต่อกับกองทัพที่รักษาเมืองพิษณุโลก อะแซหวุ่นกี้ก็รีบลงมือรบรุกกองทัพธนบุรี
รายการรบตอนนี้ปรากฏในหนังสือพงศาวดารว่าพอไปตั้งค่ายตามริมแม่น้ำ เป็นระยะขึ้นไปทั้งสองฟากดังกล่าวมาแล้ว อะแซหวุ่นกี้ก็ให้กองทัพพม่ามาตั้งค่ายตรงหน้าที่จมื่นเสมอใจราชที่วัดจุฬามณี ข้างฝั่งตะวันตก 3 ค่าย แล้วให้กองทัพอีกกองหนึ่งยกลงมาลาดตระเวณตรวจกำลังข้าศึกทางฝั่งตะวันตก ได้รบกับไทยตั้งแต่ค่ายระยะที่ 3 ลงมาจนถึงระยะที่ 1 ที่บางทราย พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้กองเกณฑ์หัดคุมปืนใหญ่รางเกวียน 30 กระบอก ขึ้นไปช่วยพระยาราชสุภาวดีรักษาค่าย พม่ารบพุ่งอยู่จนเวลาค่ำก็ถอยกลับไปถึง ณ วันพฤหัสบดี เดือน 3 ขึ้น 12 ค่ำ พระเจ้ากรุงธนบุรีดำรัสสั่งให้พระธรรมไตรโลก พระยารัตนพิมล พระยาชลบุรีคุมพลอยู่รักษาค่ายหลวงที่ปากน้ำพิง แล้วเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปตั้งที่บางทรายฝั่งตะวันออก ไปช่วยพระยาราชสุภาวดี ในค่ำวันนั้นพม่ายกมาทางฝั่งตะวันตก เข้าปล้นค่ายเจ้าพระยาอินทรอภัย ที่ตั้งเป็นระยะที่ 2 ที่ท่าโรง รบพุ่งกันเป็นสามารถ พระเจ้ากรุงธนบุรีให้กองเกณฑ์หัด 200 คน (คุมปืนใหญ่) ขึ้นไปช่วย พม่าตีไม่ได้ค่ายก็เลิก
ตอนนี้อะแซหวุ่นกี้ รู้สึกว่า กองทัพไทยที่ยกขึ้นไปจากข้างใต้มีกำลังมากกว่าที่คาดไว้แต่แรก ครั้นจะแบ่งกำลังที่ล้อมเมืองพิษณุโลกมาช่วยตีกองทัพไทยข้างใต้ ก็เกรงว่าเจ้าพระยาทั้งสองจะออกระดมตีทางข้างเหนือ จึงให้งดการรบรุกกองทัพกรุงธนบุรีไว้ แล้วมีหนังสือส่งไปยังกองทัพหนุนที่ตั้งอยู่เมืองสุโขทัย 5,000 ให้แยกลงมาตีตัดลำเลียงของกองทัพกรุงธนบุรี 3,000 จำนวนพลที่เหลืออีก 2,000 ให้ยกไปช่วยรบกับไทยทางเมืองพิษณุโลก |
|
|